กทม.แจงไม่ได้ให้ "หาบเร่แผงลอย" กลับมาขายทั้งหมด และไม่ได้ทำเป็นจุดผ่อนผัน แต่จะเลือกพื้นที่ทางเท้าที่เหมาะสม ผ่านหลักเกณฑ์ 3 เรื่อง ไม่กระทบคนเดินเท้า ไม่มีการหักหัวคิว ความสะอาดและสวยงาม ถึงขออนุญาต บช.น.อนุญาตเปิดขายได้ เผยเร่งสำรวจทางเท้าทั้งหมดในสัปดาห์นี้ คาดชัดเจนหลังปีใหม่ เล็งให้ผู้ค้ารับผลกระทบจากการจัดระเบียบและยากจนก่อน
วันนี้ (9 ธ.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวกรณี กทม.เตรียมให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกลับมาขายบนทางเท้า ว่า สาเหตุที่ต้องออกมาแถลงข่าวทำความเข้าใจ เพราะมีการเข้าใจผิดคิดว่า กทม.จะให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกลับมาขายบนทางเท้าทั้งหมด ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า กทม.มีนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนั้น ไม่ใช่การกำจัดผู้ค้า หรือประกาศสงครามกับผู้ค้า เพราะถือว่าเป็นพี่น้องชาวกรุงเทพเช่นกัน แต่ประเด็นสำคัญ คือ การจัดระเบียบเพื่อให้คนเดินบนทางเท้าได้ เพราะทางเท้าเป็นสิทธิของทุกคน ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีการเคลื่อนย้ายผู้ค้าที่ขวางทางเท้าไปตามที่ต่างๆ ที่จัดหาให้ เพราะหากไม่ทำอะไรเลยสุดท้ายคนก็จะต้องไปเดินบนถนนและอาจถูกรถชนได้
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดระเบียบให้ทางเท้ามีความสวยงาม ทุกคนสามารถเดินได้อย่างเท่าเทียม มีความปลอดภัย ก็จะพิจารณาให้ผู้ค้ากลับมาขายได้ ซึ่งจะไม่ได้ทำเป็นจุดผ่อนผันเหมือนเดิม แต่ทำเป็นการพัฒนาเมืองในรูปแบบทางเท้าที่สามารถใช้ร่วมกันได้ โดย กทม.จะมีการสำรวจทางเท้าต่างๆ ว่า พื้นที่ไหนมีความเหมาะสมที่จะให้ค้าขายได้ โดยทางเท้าจะต้องกว้างขวางมากพอ แต่ความกว้างเป็นเท่าไรนั้นยังไม่ได้สรุปตัวเลขที่ชัดเจน เพราะต้องคำนึงถึงสถานที่จริงซึ่งมีต้นไม้และเสาไฟฟ้าด้วย และทางเท้าแต่ละแห่งก็ไม่ได้เท่ากันทั้งหมด หรืออาจเป็นพื้นที่ใกล้ออฟฟิศ เพื่อให้พนักงานสามารถมาซื้อของได้ในราคาไม่แพง เป็นต้น หลังจากได้พื้นที่แล้วจะพิจารณาว่า ผ่านหลักเกณฑ์ 3 เรื่องที่จะให้ค้าขายหรือไม่ คือ 1.ต้องไม่กระทบคนเดินเท้า ซึ่งรวมถึงผู้พิการทางสายตาและการเคลื่อนไหวด้วย 2.ไม่มีการเก็บหัวคิว และ 3.มีความสะอาดและสวยงาม ซึ่งจะให้ผังเมืองมาช่วยในการออกแบบตกแต่งหน้าร้าน ไม่มีการล้างจานบนทางเท้า หรือเทไขมันลงท่อระบายน้ำอีกต่อไป เพื่อรักษาความสะอาด หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมดก็จะให้ขายได้ ซึ่งทั้งหมดน่าจะมีความชัดเจนหลังปีใหม่ 2563
"ที่ผ่านมาจุดผ่อนผันใครๆ ก็มาขายได้ แต่คนจนไม่ได้ขาย เพราะมีกระบวนการของมาเฟียในการจัดหัวคิว คนมาขายได้ต้องขอคนนี้ก่อน คนจัดหัวคิวได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ดังนั้น เมื่อมีการจัดระเบียบ ยกเลิกจุดผ่อนผัน หากจะกลับมาขายก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่เช่นกัน ต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งหากพื้นที่เหมาะสมและผ่านเกณฑ์ 3 เรื่อง เราก็จะขออนุญาตจาก บช.น.ในการให้กลับมาขาย โดยเราจะให้ความสำคัญกับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบในพื้นที่นั้นก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสิทธิทั้งหมด ก็ต้องดูตามความเหมาะสม เพราะบางคนเมื่อจัดระเบียบแล้วไปสถานที่ใหม่ที่ กทม.จัดให้ ปรากฏว่ามีรายได้ดีกว่า ก็คงไม่ได้อยากกลับมา เป็นต้น" ร.ต.อ.พงศกรกล่าวและว่า เมื่อได้ความชัดเจนในพื้นที่แล้ว อาจจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ด้วย
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ทั้งนี้ ข้อย้ำว่า หากการค้าขายกระทบสิทธิคนเดินทางเท้า หรือไม่มีการรักษาความสะอาด ผู้ค้าไม่ช่วยดูแลรักษาความสะอาดระหว่างกันเองด้วย ก็จะยกเลิกพื้นที่ให้ขายทันที ซึ่งก็ถือว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง แม้จะมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่รัดไว้หลายอย่าง แต่ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะคนเดินเท้าที่ต้องไม่ได้รับผลกระทบก่อน นอกจากนี้ ในเรื่องของค่าธรรมเนียมต่างๆ หากเป็นคนยากจนจริงก็อาจจะมีการละเว้นด้วย ส่วนเรื่อของการขายในพื้นที่ก้จะต้องหาแนวทางบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการครอบครองพื้นที่ไปตลอดด้วย สำหรับการเปิดโอกาสให้ผู้ค้าสามารถกลับมาได้ตามแนวทางหลักเกณฑ์ใหม่แบบนี้ ก็เพราะอยากช่วยกลุ่มผู้ค้า แต่ที่ต้องมีระเบียบก็เพราะหากขายได้อย่างเสรีจนคนเดินไม่ได้ แม้เศรษฐกิจจะดี แต่คนถูกละเมิดสิทธิก็ไม่ถูกต้อง หรือหากตั้งขายกันจนเดินไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่มีใครมาเดิน จึงต้องมีการวางกฎเกณฑ์เช่นนี้