เมื่อปีเก่ากำลังจะผ่านพ้นไป หลายคนคงทอดถอนลมหายใจบนความรู้สึกดีใจแบบแปลกๆที่จะได้เลี้ยงฉลองวันหยุดงานกันเสียที วงรอบชีวิตการทำงานที่น่าเบื่อได้หมดลงไปอีกครั้ง หนึ่งปีที่ผ่านมาช่างเป็นเวลาที่ยาวนานเสียเหลือเกิน อยากลาออกให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลย หากใครกำลังรู้สึกกับงานที่ทำอยู่อย่างนี้แล้วล่ะก็ นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ดีนัก!
การทำงานเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการนำความรู้ ความสามารถ ความชอบและความสนใจมาใช้ประกอบอาชีพเพื่อแปรเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองมีเหล่านี้ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งสร้างรายได้ที่จะช่วยให้แต่ละคนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นปกติสุขโดยไม่ต้องอาศัยพึ่งพาคนอื่น ปัญหาคือ เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ความรู้สึกนี้มีแต่จะบั่นทอนสภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานของเราให้แย่ลงไปเรื่อยๆ
“ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ Burnout Syndrome ถูกนำมาใช้แทนความรู้สึกไม่มีความสุขกับงานที่กำลังทำอยู่และเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่คงไม่มีใครอื่นรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรนอกจากตัวของเราเอง โดยมีข้อบ่งชี้ถึงการเกิดภาวะดังกล่าวใน 3 ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ
1.รู้สึกเบื่อหน่ายกับลักษณะงานที่ทำหรือกับสภาพแวดล้อมในการทำงานจนขาดแรงกระตุ้นและแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี รู้สึกหงุดหงิดและมีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับงานที่ทำจึงพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำงาน จนถึงจุดที่รู้สึกว่าทนไม่ไหวและต้องการลาออกจากงาน
2.รู้สึกว่าตัวเองต้องแบกรับความเครียดและความกดดันจากงานอยู่ตลอดเวลา เกิดความเหนื่อยล้าและรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกาย ทั้งมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด ไม่อยากอาหาร ไร้เรี่ยวแรงที่จะทำอะไรทั้งสิ้น สุขภาพทรุดโทรมและเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย
3.ความสามารถในการจัดการงานต่างๆที่เคยทำได้ลดน้อยถอยลง สะท้อนออกมาจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นผลที่ตามมาจากความเครียดและสภาพร่างกายที่อ่อนล้า ขาดสมาธิและแรงจูงใจที่จะทำงานให้เกิดผลดีเหมือนที่เคยทำได้มาก่อน
โดยทั่วไปคนเรามักจะเข้าสู่ภาวะหมดไฟเมื่อผ่านการทำงานมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากเดิมที่เคยมีความตั้งใจ ทุ่มเททำงานให้เกิดผลตามที่มุ่งหวังและพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งกลับเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย มีความอึดอัดคับข้องใจและต้องการออกไปให้พ้นจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้นั้นมักขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน โดยสามารถแบ่งกลุ่มปัจจัยที่เป็นสาเหตุของภาวะหมดไฟได้เป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ
1.ปัจจัยเกี่ยวกับการทำงาน - งานแทบทุกประเภทจะมีขอบข่ายที่เชื่อมโยงคนทำงานเข้ากับเป้าหมายและภาระงาน หน้าที่และความรับผิดชอบ ผลประโยชน์และค่าตอบแทน โครงสร้างองค์กรและสายการบังคับบัญชา ระบบและรูปแบบการทำงาน ความก้าวหน้าและความมั่นคงในอาชีพ ลูกค้าหรือผู้รับบริการ ตลอดจนสภาพแวดล้อมและเพื่อนร่วมงาน หากส่วนใดส่วนหนึ่งมีความบกพร่องและเป็นข้อจำกัดต่อการบรรลุเป้าหมายของทั้งองค์กรและตัวบุคคล ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงจูงใจในการทำงานทั้งสิ้น
2.ปัจจัยเกี่ยวกับตัวบุคคล - สิ่งที่เข้ามาบั่นทอนจิตใจคนทำงานมักเป็นเรื่องความไม่สมดุลระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริง เนื่องจากในการทำงานนั้นมีความเกี่ยวพันกับบุคคลหลายฝ่าย อาจมีความติดขัดหรือไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อาจถูกตำหนิ ไม่เห็นความสำคัญหรือขาดการสนับสนุนที่ดีพอจนทำให้เกิดความกดดันหรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ภาวะหมดไฟยังเป็นผลมาจากความสามารถในการจัดสมดุลชีวิตที่ขาดประสิทธิภาพจนทำให้ภาระงานเบียดบังชีวิตส่วนอื่นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม การเบื่องานไม่จำเป็นต้องลาออกและเริ่มต้นหางานใหม่ไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด การเตรียมตัวรับมือเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะเบื่อหน่ายกับการทำงานอย่างเหมาะสมก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้หากเราเข้าใจเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะสมความเครียดและกดดันจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของเราเอง ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ที่จะช่วยในการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับมือกับภาวะหมดไฟในการทำงานแทนการลาออกได้ ดังนี้
1.รักตัวเองให้มาก - การรักตัวเองไม่ใช่การจมอยู่กับตัวเอง แต่เป็นการนึกถึงคนที่เรารักและคนที่รักเราเสมอ ที่ชัดเจนที่สุดคือ ลูก สามีภรรยา คุณพ่อคุณแม่ การเริ่มต้นจากความคิดที่ต้องการดูแลตัวเองให้ดีก่อนจะตัดสินใจทำอะไร ก็คือการคิดว่าจะสามารถทำให้ครอบครัวที่เรารักได้รับสิ่งที่ดีไปพร้อมกัน
2.ดูแลร่างกาย - เมื่อตั้งใจแล้วว่าจะดูแลคนที่เรารักให้ดี สิ่งสำคัญคือการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีพละกำลังที่จะออกไปทำงานที่รักได้ต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องการควบคุมอาหารและรับประทานแต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตร
3.ดูแลจิตใจ - ยิ้มรับให้กับทุกสิ่งที่เข้ามา จิตใจที่แจ่มใสอยู่เสมอย่อมเป็นพลังในการขับเคลื่อนร่างกายให้ไปทำงานที่รักได้ในทุกวัน ให้เวลากับตัวเองและครอบครัวได้ผ่อนคลายกับการท่องเที่ยวและทำสิ่งที่ชอบด้วยกันบ่อยๆ ปลีกตัวออกจากโลกออนไลน์บ้างเพื่อไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น
4.รู้จักยืดหยุ่น - การตั้งเป้าหมายการทำงานให้สูงไว้เป็นเรื่องดี แต่ต้องพร้อมยอมรับที่จะลดทอนหรือปรับเปลี่ยนใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นไปในแต่ละช่วงเวลา การยืดหยุ่นต่อสถานการณ์จะช่วยให้เราสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายในการทำงานได้ในที่สุด
5.เรียนรู้สิ่งใหม่ - การหาโอกาสเพื่อพาตัวเองออกจากงานเดิมๆและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยลดความซ้ำซากจำเจแล้ว ยังอาจได้นำสิ่งใหม่มาปรับใช้กับการทำงานให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น หรืออาจช่วยให้เราได้ค้นพบเส้นทางอาชีพการทำงานที่สามารถเติมเต็มเป้าหมายในชีวิตของเราเองก็เป็นได้
ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นโอกาสอันดีที่ได้ใช้เวลานี้ในการฟื้นฟูแรงกายและเพิ่มพลังใจให้กับตัวเองตลอดช่วงวันหยุดยาว เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับความท้าทายครั้งใหม่อย่างสดชื่นและทำให้ชีวิตการทำงานก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความสุข