คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ใกล้จะสิ้นปีกันอีกแล้ว เตรียมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันอย่างไรบ้างคะ ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมต้อนรับปีใหม่เป็นรูปแบบเฉพาะตัว เห็นแล้วก็รู้สึกครึกครื้นสนุกสนานตามไปด้วยเลยค่ะที่มีอะไรให้ทำเฉพาะเทศกาลแบบนี้
เรื่องแรกสุดที่ตระเตรียมกันอย่างเอิกเกริกคือ ไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ญี่ปุ่น ซึ่งคล้ายกับ ส.ค.ส. บ้านเรา ที่ต้องเตรียมการกันแต่เนิ่น ๆ ก็เพราะมักส่งกันทีหลายสิบหรือไม่ก็หลักร้อยใบ อีกทั้งยังต้องเอาไปหยอดตู้ไปรษณีย์ให้ทันภายในวันคริสต์มาส ไม่อย่างนั้นแล้วที่ทำการไปรษณีย์ จะไม่สามารถส่งให้ถึงที่หมายได้ทันวันที่ 1 มกราคม
หากไม่สะดวกทำไปรษณียบัตรด้วยตัวเองสามารถสั่งร้านให้พิมพ์ได้ ราคาสูงพอสมควร แต่ก็ประหยัดเวลาไปได้มาก สำหรับลวดลายก็มีให้เลือกอย่างจุใจ ที่นิยมคือลวดลายนักษัตรของปีใหม่นั้น และแบบที่ใส่ลวดลายพร้อมรูปถ่ายได้ แบบหลังนี้เป็นที่นิยมสำหรับคู่แต่งงานใหม่ และคนที่เพิ่งมีลูก เพราะเป็นการแจ้งข่าวคราวไปพร้อม ๆ กันบริการสั่งพิมพ์จากร้านนี้ยังพิมพ์ชื่อที่อยู่ผู้รับผู้ส่งให้ด้วย แล้วพอได้รับมาก็อาจจะเขียนข้อความอะไรเพิ่มเติมอีกสักประโยคสองประโยคเป็นการเฉพาะสำหรับผู้รับ
ดูเผิน ๆ เหมือนจะวุ่นวายนะคะ แต่พอเห็นลวดลายไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่สีสันสดใสสวยงามหลากร้อยรูปแบบ ทั้งจากร้านที่รับสั่งพิมพ์ หรือจากหนังสือพร้อมซีดีรอมสำหรับพิมพ์เอง ที่มีหลายสำนักพิมพ์ทำออกมาในช่วงท้ายปีแล้ว จะรู้สึกครึกครื้นตื่นเต้น อยากพิมพ์ไปรษณียบัตรสวย ๆ ส่งขึ้นมา
อย่างที่สองที่ต้องเตรียมก็คือการทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เชื่อกันว่าเทพเจ้าแห่งปีหรือที่เรียกกันว่า “โทชิคามิซาหมะ”(年神様)จะลงจากเขามาอำนวยพรเป็นความสุขและสุขภาพที่ดีให้แต่ละครัวเรือน จึงต้องมีการทำความสะอาดบ้านเตรียมต้อนรับ การทำความสะอาดครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงทำแค่ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังทำในบริษัทห้างร้านและตามโรงเรียนด้วย
พอบ้านสะอาดหมดจดแล้ว ถึงจะได้เวลาตกแต่งบ้านด้วยสัญลักษณ์ของปีใหม่กันละค่ะ โดยมากแล้วจะนิยมตกแต่งเครื่องตกแต่งปีใหม่สามสิ่งนี้กันตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมเป็นต้นไป
1. คาโดมัตสึ(門松) - มักประดับไว้ตามโถงหน้าบ้าน (เก็งคัง) เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำหรับเทพเจ้าแห่งปีจะได้มาเยือนในช่วงปีใหม่
2. ชิเมคาซาหริ (しめ飾り)- มักประดับไว้ที่ประตูหน้าบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือนของเทพเจ้าแห่งปี บ้างก็ว่าเพื่อปัดเป่าไม่ให้สิ่งอัปมงคลเข้ามาในบ้านได้ ฟังดูคล้าย ๆ แปะยันต์เลยนะคะ
สองอย่างแรกนี้จะประดับจนถึงวันที่ 7 มกราคม (บางแห่งในภูมิภาคคันไซจะประดับถึงวันที่ 15 มกราคม) ตามธรรมเนียมแล้วจะนำไปให้ศาลเจ้าเผาให้ในพิธี “ดนโดะยากิ” (どんど焼き) ซึ่งมีเพียงวันเดียวเท่านั้น ส่วนมากคือวันที่ 15 มกราคม (ศาลเจ้าบางแห่งจะรับของเหล่านี้ก่อนล่วงหน้า โดยต้องนำของไปให้ศาลเจ้าเฉพาะในวันเวลาที่กำหนดเท่านั้น) ในพิธีดนโดะยากิจะเผาเครื่องรางที่ซื้อมาจากศาลเจ้าเมื่อปีก่อน รวมทั้งของตกแต่งปีใหม่ด้วย ห้ามเอาสิ่งอื่นมาเผาปะปนกัน
หากไม่สามารถนำไปให้ศาลเจ้าในวันพิธีได้ ก็สามารถทิ้งได้ด้วยตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าโยนใส่ถังขยะกันทั้งอย่างนั้น หากควรทำอย่างมีความเคารพเสียหน่อย คือให้ทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเสียก่อน แล้วเอาเกลือโรย(ญี่ปุ่นเชื่อว่าการโรยเกลือเป็นการขับไล่ความอัปมงคล) ก่อนจะห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วค่อยนำไปทิ้ง
แต่เดี๋ยวนี้หลายบ้านก็มีการนำของตกแต่งเหล่านี้ไปเก็บแล้วนำมาใช้ใหม่ในปีถัดไปเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่โดยธรรมเนียมแล้วก็ว่ากันว่าของตกแต่งเหล่านี้เหมือนเชิญเทพเจ้ามา เมื่อถึงเวลาก็ต้องส่งท่านกลับสวรรค์ด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรนำไปทำพิธีเผาที่ศาลเจ้า หรืออย่างน้อยก็ทิ้งด้วยวิธีที่เหมาะสม แล้วพอถึงปีใหม่ก็ค่อยซื้อชิ้นใหม่มาแทน
3. คางามิโมจิ (鏡餅)- เป็นโมจิก้อนเล็กก้อนใหญ่ซ้อนกันสองก้อน และผลไดได (ผลไม้ตระกูลส้มมีรสเปรี้ยวและขม) วางบนสุด บางแห่งว่าโมจิสองก้อนเป็นสัญลักษณ์ของปีเก่าและปีใหม่ หมายความถึงการต้อนรับปีใหม่ที่มาเยือน ส่วนคำว่า “ไดได” นั้นพ้องเสียงกับ “代々” ที่หมายถึงรุ่นต่อรุ่น จึงให้ความหมายในเชิงอวยพรความเจริญของลูกหลานด้วย
คางามิโมจินี้จะประดับไว้ถึงวันที่ 11 มกราคมแล้วจึงนำมาย่างรับประทานกับถั่วแดงร้อนหรือโอโซนิ ซึ่งเป็นน้ำแกงของปีใหม่ (ถ้าเป็นภูมิภาคคันไซ บางแห่งจะรับประทานในวันที่ 20 มกราคม) เป็นการแสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้าและการรับประทานของที่ไหว้เจ้าแล้วนั้นก็ยังเป็นสิริมงคลด้วย ตรงนี้คงเหมือนการรับประทานของไหว้เจ้าของจีนนะคะ
หลังตระเตรียมของตกแต่งเสร็จแล้ว ก็เป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอยคือการที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายและลูกหลานได้มารวมตัวกัน ผู้ใหญ่มักเฝ้ารอหรือคาดหวังว่าลูกหลานจะกลับมาเยี่ยม ก็จะเตรียมอาหารปีใหม่ รวมทั้งแต๊ะเอียไว้ให้เด็ก ๆ
ตามร้านเครื่องเขียนหรือร้านหนังสือใหญ่ ๆ จะมีขายซองใส่แต๊ะเอียที่ออกแบบไว้สารพัดชนิด ที่เห็นขายกันมากจะเป็นขนาดซองเล็ก ต้องพับธนบัตรเป็นสองทบจึงใส่ได้พอดี ไม่เหมือนซองแต๊ะเอียของคนจีนที่นิยมสีแดง และส่วนใหญ่ขนาดจะพอดีใส่ธนบัตรได้โดยไม่ต้องพับ
และเมื่อถึงวันสิ้นปีก็จะมีกิจกรรมเด่นอยู่สองสามอย่างที่ทุกคนรู้จักดี หนึ่งในนั้นได้แก่ การดูรายการเพลงถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง NHK ซึ่งเป็นรายการเพลงใหญ่ที่สุดของปี เมื่อก่อนบ้านเราก็มีฉายด้วย และเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรู้จักเพลงและนักร้องญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก เดี๋ยวนี้ไม่แน่ใจว่ายังมีอยู่ไหมนะคะ
รายการเพลงนี้จะแบ่งนักร้องเป็นทีมขาว (นักร้องชาย) และทีมแดง (นักร้องหญิง) เพื่อตัดสินว่าทีมไหนจะชนะในปีนั้น แต่ละปีจะมีการกำหนดตัวคนที่จะมาเป็นพิธีกรชายหญิงโดยเฉพาะ สามารถตรวจสอบรายการเพลงและชื่อนักร้องได้ในหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต ออกอากาศเป็นเวลาถึง 4 ชั่วโมงครึ่ง และจบ 15 นาทีก่อนเที่ยงคืน
https://www.nhk.or.jp/kouhaku/
จากนั้นทางสถานีโทรทัศน์ก็จะถ่ายทอดสดการตีระฆัง 108 ครั้งที่ศาลเจ้าก่อนเคาน์ดาวน์เข้าสู่วันปีใหม่ และเป็นเวลาที่หลายคนเตรียมออกไปเคาน์ดาวน์และไหว้พระข้ามปีกันที่ศาลเจ้า
หากไม่ได้ออกไปก็สามารถรับชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ได้ และนั่งรับประทาน “โทชิโคชิโซบะ”(年越しそば)หรือบะหมี่ข้ามปีกันด้วย และเป็นธรรมเนียมที่จะรับประทานเป็นโซบะมากกว่าอุด้ง เพราะโซบะเคี้ยวให้ขาดได้ง่ายกว่า จึงถือเป็นโชคลางว่าตัดความโชคร้ายและความลำบากต่าง ๆ ออกไปจากปี รวมทั้งมีชีวิตที่ยืนยาวมีสุขภาพดี
โดยส่วนตัวแล้ว ฉันมักง่วงเกินกว่าจะรอชมรายการเพลงจนจบ หรือทู่ซี้รอเวลานั่งรอรับประทานโซบะข้ามปี จำได้ว่าเคยอยู่ดึกถึงขนาดนั้นเหมือนกันค่ะ แต่น่าจะหลายปีก่อน ตอนนี้อายุชักเยอะขึ้นทุกที สังขารเลยไม่อำนวย จึงเข้านอนแล้วรอไปไหว้พระวันต่อมาอย่างสดชื่นดีกว่า
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่านที่ติดตามอ่านกันมาตลอดปีหรือหลายปีมานี้นะคะ ทุกกำลังใจมีความหมายสำหรับฉันมาก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากทุกท่านต่อไปในปีใหม่ที่จะถึงนี้ ส่วนท่านไหนตั้งปณิธานว่าจะทำสิ่งใดให้สำเร็จในปีหน้า ฉันขอเป็นกำลังใจให้สร้างเหตุที่ตรงทาง เพียรอดทนทำเรื่อยไปจนสำเร็จ และสมปรารถนาในสิ่งดีงามที่คาดหวังไว้นะคะ 💕
แล้วพบกันใหม่ในปีชวดค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.