กรมการแพทย์เปิดตัวแอปพลิเคชัน "NCI Easy" ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ช่วยนัดหมายตรวจ จองคิวได้รวดเร็ว ลดรอคอยแออัดใน รพ. พร้อมชูระบบเอไอ ตรวจคัดกรองภาพเอกซเรย์ทรวงอก แม่นยำสูง 80-90% ทั้งวัณโรค มะเร็งปอด หัวใจผิดปกติ และความผิดปกติอื่น เตรียมให้ รพ.รัฐใช้ฟรี
วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน "NCI Easy" และเทคโนโลยี AIChest4All ระบบตรวจทรวงอกจากภาพเอกซเรย์ปัญญาประดิษฐ์ ว่า ขณะนี้สถาบันมะเร็งฯ ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน "NCI Easy" เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการให้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยสามารถจองคิวเข้ารับบริการตรวจ สามารถเลือกคลินิกและระบุชื่อแพทย์ที่ต้องการให้ตรวจรักษาตนเองได้ รวมทั้งนัดล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาติดต่อด้วยตนเอง นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังช่วยแจ้งเตือนเมื่อถึงวันนัดตรวจ พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนในการเข้ารับบริการในวันตรวจอย่างละเอียด บอกตำแหน่งหรือจุดที่ต้องเข้ารับบริการเป็นลำดับ และยังสามารถชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันได้หลายช่องทาง ทำให้ช่วยลดขั้นตอนลงได้ ผู้ป่วยไม่ต้องมาแต่เช้าเพื่อรอรับบัตรคิว แต่สามารถมาตามเวลาที่นัดได้เลย ทำให้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนซอฟต์แวร์เอไอเชสท์ฟอร์ออล (AIChest4All) เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์และศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสารสนเทศอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงพูดและภาษา และนวัตกรรมด้านบริการ (CILS) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยใช้เวลา 1 ปี ในการรวบรวมภาพเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยมากกว่า 2 แสนภาพ ของโรคต่างๆ เช่น วัณโรค มะเร็งปอด หัวใจผิดปกติ และโรคทรวงอกอื่นๆ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอนี้จะเรียนรู้รูปแบบของโรคต่างๆ ผ่านภาพถ่ายเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อมีการเอกซเรย์ทรวงอกผู้ป่วยและนำเข้าสู่ระบบ เอไอจะบอกได้ว่าผู้ป่วยรายนี้มีความผิดปกติใดเกี่ยวกับทรวงอกหรือไม่ โดยจะระบุเป็นสีถึงระดับความเสี่ยง เช่น เขียว เหลือง ส้ม และแดง และบอกตำแหน่งที่มีปัญหา ทำให้แพทย์สามารถทราบผลคัดกรองได้ในเวลาไม่ถึง 1 นาที ซึ่งตรงนี้จะส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคทางทรวงอกของประชาชน ช่วยให้โรงพยาบาลชุมชนที่ขาดรังสีแพทย์ในการวินิจฉัย สามารถตรวจคัดกรองได้มากขึ้น ซึ่งความแม่นยำของเอไอนี้มีมากกว่า 80% ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะเปิดให้รพ.รัฐทั่วประเทศสามารถใช้ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยิ่งเมื่อเอไอมีภาพในคลังเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเรียนรู้และฉลด มีความแม่นยำเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนเข้าใช้แอปพลิเคชัน NCI Easy ได้โดยระบุชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน และเลขประจำโรงพยาบาล (Hospital Number) โดยผู้ป่วยสามารถนัดหมายในการตรวจบริการได้ หรือผู้ป่วยเก่าที่มีนัดหมายอยู่แล้ว เมื่อถึงวันนัดก็สามารถกดรับบัตรคิวได้ทันทีตั้งแต่อยู่ที่บ้าน ทำให้ไม่ต้องมาตั้งแต่ช่วง 06.00-08.00 น. เพื่อมากดรับบัตรคิว และต้องมารอจนเกิดความแออัด ซึ่งปกติช่วงการมารับบัตรคิวจะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง ก็สะดวกใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการใช้กระดาษของโรงพยาบาลด้วย ซึ่งโรงพยาบาลได้เดินหน้านโยบายลดการใช้กระดาษมานานแล้ว ตั้งแต่ลงทะเบียนไปจนถึงจ่ายยาก็จะไม่มีการใช้กระดาษเลย ยกเว้นเพียงแต่การเบิกจ่ายเท่านั้น
ด้าน รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต หัวหน้า CILS มธ. กล่าวว่า คลังภาพเอกซเรย์นั้น มีรังสีแพทย์ 7 ท่านในการตรวจสอบความถูกต้องว่าภาพเอกซเรย์นั้นเป็นโรคอะไร โดย 1 ภายจะอาศัยรังสีแพทย์ 3 ท่านในการวินิจฉัย โดย 2 ใน 3 ต้องมีความเห็นตรงกันว่าเป็นโรคใด เพื่อนำมาทำเป็นคลังข้อมูลของเอไอ อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์ที่ให้ใช้นี้ จะมีช่องรับความคิดเห็นของแพทย์ที่นำระบบไปใช้งานด้วย ซึ่งหากเห็นด้วยกับผลคัดกรองของเอไอก็ไม่มีปัญหา หากเห็นต่างก็สามารถเขียนความคิดเห็นลงไปได้ และอาจต้องขอความเห็นแพทย์บุคคลที่ 3 เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งจะทำให้เอไอเรียนรู้และฉลาดยิ่งขึ้น โดยตอนนี้ได้นำซอฟต์แวร์ไปใช้ใน รพ.มะเร็งอุดรธานี และสถาบันโรคทรวงอกประมาณ 1 เดือน สำหรับความแม่นยำนั้น หากคัดกรองภาพเอกซเรย์ปกติถูกต้องถึง 87% วัณโรค 92% มะเร็งปอด 93% หัวใจผิดปกติ 94% ความผิดปกติอื่นในทรวงอก 80% และความปิดปกตินอกทรวงอก 80% ซึ่งการที่ตรวจคัดกรองได้รวดเร็วนั้น หากพบความผิดปกติจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น ยิ่งมะเร็งปอด หากรู้เร็วก็ช่วยรักษาได้เร็ว สำหรับรพ.ที่สนใจ ใช้เพียงคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวเพื่อลงระบบ แต่คอมพิวเตอร์ควรมีแรมอย่างน้อย 5 Gb ฮาร์ดดิสก์ 1 Tb และควรใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความแรงพอสมควร