นักวิจัย มจธ. พัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนด้วยวัสดุฉลาด คว้ารางวัลเหรียญทองระดับนานาชาติ ณ ประเทศเยอรมนี
ในปัจจุบันพบว่ามีคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวและมีแนวโน้มในการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 และ 2557 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 43,272 คน และ 54,204 คน ตามลำดับ และคาดว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีผู้เสียชีวิตที่สูงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพยากรในวัยทำงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
โรคหัวใจล้มเหลวนั้นเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถรักษาระดับของการไหลเวียนเลือดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้มีสาเหตุหลักมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ, และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด กล่าวว่า ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากวัสดุฉลาดสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว” สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองบนเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ จากงาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2019) ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ทีมวิจัยได้ร่วมมือกับทีมแพทย์หัวใจโรงพยาบาลรามาธิบดีนำโดย รศ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ ออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจ ที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว ทางคณะวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเจาะผนังกั้นหัวใจห้องบน เพื่อลดความดันภายในหัวใจห้องบนซ้าย ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจของผู้ป่วยสูบฉีดเลือดได้สะดวกและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์นี้มีชื่อว่า Atrial Flow Regulator (AFR) หรือ Interatrial Shunt Device (IASD) เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากวัสดุผสมจำรูป (Shape memory alloy) ซึ่งทำมาจากโลหะผสมระหว่างนิกเกิล-ไทเทเนียม (NiTi) ที่มีความสามารถจดจำรูปร่างและคืนรูปได้ (Shape memory effect) และมีความยืดหยุ่นสูง (Superelastic) จึงสามารถติดตั้งผ่านสายสวนที่มีขนาดเล็กๆ ได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดใหญ่และช่วยให้ ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการรักษาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดทรวงอก โดยผลงานนี้ทาง มจธ. ได้มีความร่วมมือกับทางคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มาเป็นะระยะเวลากว่า 2 ปี