ศิริราช จับมือ เพอเซ็ปทรา พัฒนาเอไอช่วยวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ทรวงอก อาศัยภาพเอกซเรย์จากศิริราช 1-2 ล้านภาพเป็นฐานข้อมูล ช่วยคัดกรองโรคมะเร็งปอดได้รวดเร็วขึ้น คาดปี 63 เปิดให้บริกทรได้ใน รพ.รัฐและเอกชน นวมรถเอกซเรย์เคลื่อนที่
วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และน.ส.สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อรังสีวินิจฉัย
โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ศิริราชพยาบาลมุ่งเน้นการทำวิจัยและนำองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์มาพัฒนาให้เกิดคุณประโยชน์แก่วงการสาธารณสุขไทย จึงเกิดความร่วมมือกับบริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ในการวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสีทรวงอก เนื่องจากโรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรค ปอดอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่ติดอันดับทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดแทบทุกปี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกเมื่อสายไปแล้วที่จะรักษา ซึ่งปัจจุบันการคัดกรองโรคด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกเป็นวิธีการที่สะดวก ต้นทุนถูก และปลอดภัยที่สุด แต่การที่จะวินิจฉัยโรคปอดจากภาพถ่ายเอกซเรย์ให้ได้ความแม่นยำสูง ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์รังสีวินิจฉัยเฉพาะทาง แต่มีความขาดแคลนอย่างมาก ดังนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับความเชี่ยวชาญของกลุ่มแพทย์รังสีที่มีประสบการณ์ จึงมีส่วนสำคัญที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน
น.ส.สุพิชญา กล่าวว่า ปี 2561 เพอเซ็ปทราได้พัฒนา อินเสป็คทรา ผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ขึ้นมาจากการทำงานร่วมกันของระบบปัญญาประดิษฐ์หลายระบบ อาทิ การคัดกรองภาพถ่ายที่ใช้งานไม่ได้ (Defective image screening) การแปลงผลรายงานแพทย์ (Medical report analysis) การปรับภาพก่อนการวินิจฉัย (Pre-processing image) และการวินิจฉัย (Diagnosis) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) ที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ถึง 121 ชั้น ขึ้นจากภาพรังสีทรวงอกจำนวนกว่า 500,000 ภาพ ทำให้สามารถคัดกรองโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกได้ทั้ง 14 สภาวะเสมือนการอ่านผลของแพทย์รังสี ทั้งนี้ แพทย์สามารถเข้าถึงการบริการได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บแอปพลิเคชันที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงถึง 3 ชั้น ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราช เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงเกิดความร่วมมือเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดระบบให้สามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมกับประชากรและระบบสาธารณสุขในประเทศไทยและประเทศแภบอาเซียน
“คาดว่าจะเปิดตัวแอปพลิเคชันให้โรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน รวมถึงผู้ให้บริการรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ใช้ได้ในต้นปี 2563 และมีแนวคิดที่จะขยายความร่วมมือไปสู่การแพทย์ด้านอื่นด้วย เพื่อยกระดับสาธารณสุขไทยโดยรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)”น.ส.สุพิชญากล่าว
รศ.นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ข้อดีของการใช้เอไอเพื่อรังสีวินิจฉัยมาเสริมการทำงานของแพทย์ คือ ช่วยให้มีความรวดเร็ว และแม่นยำในการช่วยวินิจฉัยทางการแพทย์ ขณะที่ผู้ป่วยจะได้รู้ผลการตรวจเร็วขึ้นและลดโอกาสผิดพลาด ยกตัวอย่าง บางครั้งในการอ่านภาพถ่ายเอกซเรย์นั้น อาจมีจุดในปอดขนาดเล็กมากๆ อาจจะดูด้วยตาเห็นไม่ชัด แต่เอไอจะพบจุดเล็กๆ นี้ในปอด แล้วจะแสดงผลเป็นวงสีเกิดขึ้น ทำให้แพทย์เห็นจุดเล็กๆ นั้น ช่วยให้สามารถตรวจเจอมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ระยะแรกได้ เป็นต้น
ศ.นพ.ทนงชัย สิริอภิสิทธิ์ รองหัวหน้าสาขารังสีวินิจฉัย ภาควิชารังสีวิทยา กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์เพื่อรังสีวินิจฉัยที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการใช้ฐานข้อมูลภาพถ่ายเอกซเรย์ของต่างประเทศ ซึ่งในบางกรณียังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในการวินิจฉัยกับคนไทย และยังมีราคาแพง ดังนั้น การร่วมมือระหว่างศิริราชและเพอเซ็ปทราจะเป็นการพัฒนาเอไอเพื่อรังสีวินิจฉัยจากฐานข้อมูลของคนไทยเอง โดยใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์ที่รพ.ศิริราชมีอยู่ราว 1-2 ล้านภาพมาเป็นฐานข้อมูลให้ในการบรรจุเข้าสู่ระบบเอไอ ซึ่งจะยิ่งฐานข้อมูลจำนวนมากก็จะทำให้ความแม่นยำในการแสดงผลของเอไอสูงขึ้น จะมีความแม่นยำถึง 90 % โดยจะเป็นการพัฒนาให้สามารถคัดกรองโรคจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกได้ 14 สภาวะตามมาตรฐานโรคในทรวงอกเบื้องต้นแต่ในอนาคตจะมีมากกว่านี้
“เมื่อความร่วมมือนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้มีเอไอเพื่อรังสีวินิจฉัยที่เกิดจากฐานข้อมูลของคนไทยเอง เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากศิริราช จะช่วยให้การอ่านของเอไอมีความแม่นยำสูง ช่วยเสริมการทำงานของแพทย์ที่บางครั้งเมื่อทำงานนานๆมีความล้า ทำให้รพ.ที่ไม่มีแพทย์รังสีวินิจฉัยสามารถให้แพทย์ทั่วไปอ่านภาพถ่ายเอกซเรย์ของผู้ป่วยเบื้องต้นได้ หากสงสัยเพิ่มเติมจึงค่อยส่งปรึกษาแพทย์รังสิวินิจฉัย เพราะปัจจุบันทั่วประเทศมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ราว 1,000-2,000 คน ที่สำคัญ ช่วยผู้ป่วยรู้ผลการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้นและในระยะต้นของโรค” ศ.นพ.ทนงชัยกล่าว