xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จักตาเทียมเฉพาะบุคคลกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อ.พญ.พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ
ภาควิชาจักษุวิทยา

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ...ผู้ป่วยโรคตาที่ประสบปัญหาตาฝ่อหรือสูญเสียดวงตาแบบถาวร ไม่ว่าเป็นแต่กำเนิด จากสารเคมีเข้าตา ประสบอุบัติเหตุที่รุนแรง หรือมีมะเร็งที่ลูกตาที่ต้องผ่าตัดนำลูกตาออก การใส่ตาเทียม เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่สามารถเสริมสร้างบุคลิกและความมั่นใจให้สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะ “ตาเทียมเฉพาะบุคคล”

ตาเทียมเหมาะกับผู้ป่วยที่มีตาฝ่อ ไม่ว่าจะเกิดจากการบาดเจ็บหรือเป็นแต่กำเนิด รวมถึงผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาจากการได้รับการผ่าตัดนำลูกตาออก ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใส่ตาเทียมสำเร็จรูปได้ เนื่องจากเบ้าตามีปัญหา หรือรูปทรงของเบ้าตาไม่เข้ากับตาเทียมสำเร็จรูป ทำให้เวลาใส่แล้วตาดำดูเข หรือใส่แล้วหลุดบ่อยมีขี้ตามาก

การพิมพ์ตาเทียมเฉพาะบุคคลขึ้นมา ทำให้ตัวตาเทียมนั้นเข้ากับเบ้าตาของผู้ป่วยได้แนบสนิท หลุดยากและมีสี ขนาด และตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับลูกตาอีกข้าง ทั้งนี้อาจจะต้องมีการผ่าตัดตกแต่งเบ้าตาในผู้ป่วยบางรายก่อนสามารถพิมพ์ตาเทียมได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

กล่าวถึงขั้นตอนการประดิษฐ์ตาเทียมเฉพาะบุคคล ก่อนการพิมพ์ตาจะต้องทำการถ่ายภาพผู้ป่วย เพื่อใช้เปรียบเทียบสีของม่านตาข้างที่ปกติตอนทำ ต่อมาถึงขั้นตอนการพิมพ์ตา จะให้ผู้ป่วยนอนราบและลืมตามองตรงขึ้นบนเพดาน แล้วใช้อุปกรณ์พิมพ์ตา ซึ่งเป็นซิลิโคนสำหรับพิมพ์ตา ฉีดเข้าไปในเบ้าตาผู้ป่วย พร้อมใช้แม่พิมพ์ติดก้านที่มีขนาดสัมพันธ์กับเบ้าตาและกระจกตาของผู้ป่วยสอดเข้าไปให้ซิลิโคนห่อหุ้ม แล้วหลับตาให้ซิลิโคนแข็งตัวในเบ้าตาประมาณ 3-5 นาที

ต่อมาแพทย์จะปรับเอนเตียงในท่าปกติให้ผู้ป่วยลืมตามองตรง แล้วแพทย์จะทำเครื่องหมายที่กึ่งกลางดวงตาเพื่อให้สัมพันธ์กับตาอีกข้าง แม่พิมพ์ซิลิโคนจะถูกนำไปขึ้นรูปชิ้นงานซึ่งทำจากอะคริลิกสีขาว จากนั้นม่านตาจะถูกนำมาประกอบ ซึ่งเทคนิคของทางมหิดลคือการใช้ด้ายเฉดสีน้ำตาลดำมาถักทอให้เป็นตาดำรอบฟิล์มเอกซเรย์ที่ตัดเป็นรูปโดนัท แล้วตกแต่งด้วยการระบายสีให้ใกล้เคียงกับสีตาอีกข้างของผู้ป่วยมากที่สุด พร้อมทั้งทำเส้นเลือดฝอยบนตาขาวด้วยด้ายจากไหมพรมสีแดง และเคลือบอะคริลิกใสเพื่อเลียนแบบกระจกตาเทคนิค หลังจากนั้นจึงนัดหมายมารับตา ซึ่งอาจจะมีการกรอแก้ไขให้ตาเทียมเข้ารูปกับเบ้าตาผู้ป่วยมากขึ้น

การใส่ตาเทียมผู้ป่วยสามารถใส่ตาเทียมได้ด้วยตนเอง โดยการจับตาเทียมด้วยมือข้างที่ถนัด หันด้านที่มีตาดำและตาขาวออก และดูให้ด้านหัวตาและหางตาของตาเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง จากนั้นเปิดเปลือกตาบนขึ้นด้วยนิ้วชี้ของมืออีกข้างหนึ่ง แล้วใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้ข้างที่ถนัดจับให้ขอบด้านบนของตาเทียมสอดเข้าไปในร่องตาด้านบนตามแนวนอนของลูกตา แล้วดันตาเทียมขึ้นเบา ๆ จนขอบบนของตาเทียมยันจนสุดถึงร่องตาด้านบน และดึงเปลือกตาล่างออกมาให้คลุมบนขอบล่างของตาเทียม พร้อมปล่อยนิ้วชี้ข้างที่เปิดเปลือกตาบนให้ลงมาคลุมตาเทียม จากนั้นให้กระพริบตาและตรวจดูตำแหน่งของตาเทียมให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยและถูกต้องไม่เลื่อนหลุด ทั้งนี้ตาเทียมเฉพาะบุคคลจะมีตำแหน่งบนล่างซ้ายขวาที่ชัดเจน และไม่สามารถใส่สลับกันได้

ส่วนการถอดตาเทียมไม่ยุ่งยาก เพียงใช้นิ้วชี้ หรือนิ้วหัวแม่มือข้างที่ไม่ถนัดเปิดเปลือกตาบนขึ้น และใช้นิ้วหัวแม่มือข้างที่ถนัดกดที่เปลือกตาล่างเบา ๆ ตาเทียมจะสามารถหลุดออกมาได้โดยง่าย ดังนั้นควรต้องระวังอย่าขยี้เปลือกตาแรงๆ เพราะอาจจะทำให้ตาเทียมหลุดได้ในบางราย

การดูแลรักษาตาเทียม ผู้ป่วยสามารถใส่ตาเทียมไว้ได้ตลอดเวลา รวมถึงเวลานอน หากมีขี้ตาสามารถถอดล้างได้ แต่ไม่ควรถอดล้างบ่อย โดยทั่วไปจะแนะนำให้ถอดล้างทุก 1-2 เดือน โดยใช้น้ำสะอาดล้าง ใช้นิ้วมือถูไปทั่ว ๆ เพื่อนำคราบสิ่งสกปรกออก อาจใช้สบู่อ่อนทำความสะอาดด้วยได้ หลังจากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้านุ่ม ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ด เพราะจะทำลายผิวเคลือบของตาเทียม ไม่ควรใช้ฟองน้ำ เพราะจะทำให้เกิดรอยขีดข่วน นอกจากนี้ การถอดตาเทียมบ่อย ๆ อาจทำให้เปลือกตาล่างหย่อน ซึ่งจะส่งผลให้ตาเทียมหลุดได้ง่าย หรือร่องตาตื้นจนอาจจะไม่สามารถใส่ตาเทียมได้อีก จึงแนะนำให้ขัดตาเทียมทุก 6-12 เดือน แต่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยให้ตาเทียมมีแววตามันวาวและสวมใส่สบาย

ในผู้ป่วยที่ใส่ตาเทียมปัญหาที่พบบ่อย อาจจะมีอาการมีขี้ตาได้บ้าง หรือเคืองคับเบ้าตา ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นช่วงแรก ๆ หลังใส่ตาใหม่ ๆ หากเป็นไม่มากมักจะแก้ไขด้วยการหยอดน้ำตาเทียม ไม่ควรใช้ยาขี้ผึ้งหยอด เบ้าตา เพราะจะทำให้ตาเทียมเป็นคราบ สูญเสียความเงางามได้ หากมีอาการคันและแดงควรปรึกษาแพทย์

อีกทั้งผู้ที่สูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุกับตาอีกข้างได้ง่ายกว่าผู้ที่มีตาปกติทั้งสองข้าง เพราะผู้สูญเสียตาลานสายตาจะแคบกว่า การกะระยะใกล้ไกลทำได้แม่นยำน้อยกว่า จึงควรสวมแว่นตาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และควรเลือกเลนส์ที่ทำจากพลาสติกที่มีความเหนียวและทนที่มีคุณสมบัติป้องกันต่อแรงกระแทกได้สูง ซึ่งเมื่อแตกก็จะไม่กระจายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่จะกระเด็นเข้าไปภายในลูกตาได้ สามารถตัดแว่นตามค่าสายตาของตาข้างที่มองเห็น เพื่อแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียงได้

สำหรับผู้ที่สูญเสียดวงตาหรือมีตาฝ่อและสนใจทำตาเทียมเฉพาะบุคคล ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีศูนย์บริการตาเทียม ให้คำปรึกษาและบริการประดิษฐ์ตาเทียมเฉพาะบุคคล และยังจัดทำโครงการ 300 ตาเทียม 300 ดวงใจ ร่วมกับมูลนิธิไลอ้อนส์แห่งประเทศไทยเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลฯ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่ไม่มีทุนทรัพย์หรือสิทธิ์การรักษาที่ครอบคลุมเข้ารับบริการทำตาเทียมเฉพาะบุคคลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้จะต้องได้รับการตรวจประเมินโดยจักษุแพทย์เฉพาะทางของภาควิชาจักษุวิทยารพ.ศิริราชก่อนนัดส่งเข้าศูนย์บริการตาเทียมสามารถติดต่อนัดหมายเข้ารับการตรวจประเมินทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น. ที่หน่วยตรวจโรคจักษุ ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 5 โทรศัพท์ 0 2419 7399 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการตาเทียม อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 4(ใต้)โทร 024194117(วันเวลาราชการ)


กำลังโหลดความคิดเห็น