xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอย่าเข้าใกล้ "ลูกโป่งสวรรค์" หากไม่รู้ใช้ก๊าซอะไรบรรจุ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เตือนผู้ค้าเลี่ยงใช้ "ก๊าซไฮโดรเจน" อัดลูกโป่งสวรรค์ ชี้ไวไฟสูง เสี่ยงระเบิดไฟไหม้ได้ หากนำมาใช้ต้องติดป้ายให้รู้ แนะใช้ "ก๊าซฮีเลียม" มีความปลอดภัยกว่า หากไม่รู้ใช้ก๊าซอะไรไม่ควรเข้าใกล้

วันนี้ (10 ธ.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีแม่ซื้อลูกโป่งตัวการ์ตูนจากงานประจำปีของ จ.กาญจนบุรีให้ลูก เมื่อกลับถึงบ้านลูกโป่งเกิดระเบิดจนเกิดไฟลุกไหม้แขนลูกชายจนได้รับบาดเจ็บ ว่า ลูกโป่งสวรรค์มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข ความสนุกสนานในทุกเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด งานแต่งงาน พิธีเปิดงานต่างๆ งานคริสต์มาส และงานปีใหม่ รวมถึงมีการจำหน่ายในทุกงานประจำปีของแต่ละจังหวัดเช่นเดียวกัน และมักมีเหตุการณ์ระเบิดจากลูกโป่งสวรรค์อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากก๊าซที่บรรจุเข้าไปในลูกโป่ง คือ ก๊าซไฮโดรเจน เนื่องจากมีราคาถูก แต่ก๊าซชนิดนี้มีความไวไฟสูง ติดไฟง่าย ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เมื่อกระทบกับความร้อนหรือประกายไฟ ทำให้เกิดการระเบิดได้ และหากนำมารวมกันหลายๆ ลูกยิ่งอันตรายมาก เพราะปริมาณก๊าซมากขึ้น เมื่อเกิดการระเบิดหนึ่งลูก ก็จะมีการระเบิดต่อไปยังลูกอื่นๆ ทำให้มีความร้อนและเปลวไฟลวกผิวหนังและอันตรายถึงชีวิต

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ลูกโป่งสวรรค์จะนิยมใช้ก๊าซ 2 ชนิดบรรจุ คือ ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซฮีเลียม ผู้ที่ต้องการใช้ลูกโป่งสวรรค์ในงานต่างๆ ควรเลือกลูกโป่งสวรรค์ที่บรรจุด้วยก๊าซฮีเลียม แม้จะมีราคาแพง แต่ปลอดภัยกว่า และจะไม่ติดไฟ ไม่มีปัญหาระเบิด แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซไฮโดรเจน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการบรรจุและติดป้ายเตือนว่าห้ามนำเข้าใกล้ความร้อนหรือประกายไฟ ทั้งนี้ หากไม่ทราบว่า ลูกโป่งสวรรค์บรรจุก๊าซชนิดใด ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีลูกโป่งสวรรค์จำนวนมาก นอกจากนี้ หากมีการนำถังก๊าซมาตั้งไว้บริเวณงานควรดูแลให้อยู่ในสภาพดี จัดวางในพื้นที่โล่ง อากาศระบายได้ดี ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการล้มที่มั่นคง ก่อนเคลื่อนย้ายถังก๊าซต้องปิดฝาครอบวาล์วให้เรียบร้อย เคลื่อนย้ายโดยใช้รถเข็น ห้ามลากไปกับพื้นเพื่อป้องกันการเสียดสีและติดไฟ

"กรณีประดับตกแต่งด้วยลูกโป่งสวรรค์ภายในงานต่างๆ จะต้องจัดวางไว้ให้พ้นจากมือเด็ก และหากลูกโป่งแตกควรเก็บเศษไปทิ้งถังขยะทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ หยิบเศษลูกโป่งมาอม หรือกัดเล่น เพราะอาจลื่นเข้าไปในลำคอจนอุดทางเดินหายใจได้ ที่สำคัญพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็กเล่นลูกโป่งใกล้ใบหน้า เพราะหากเกิดการแตก แรงระเบิดจะเป็นอันตรายต่อใบหน้าและตาได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น