เอเอฟพี - องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ(นาซา) เสร็จสิ้นในขั้นตอนการสร้างจรวดยักษ์ที่จะนำพามนุษย์อวกาศอเมริกากลับสู่ดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากคำแถลงของหัวหน้านาซาในวันจันทร์(9ธ.ค.) พร้อมสัญญาภารกิจนี้จะเกิดขึ้นในปี 2024 แม้ประสบปัญหาล่าช้าบ่อยครั้ง
จรวด SLS (Space Launch System) เป็นจรวดยาวที่สุดที่เคยมีการสร้างมา ด้วยความยาว 65 เมตร หรือสูงพอๆกับตึก 20 ชั้น
นอกจากนี้แล้วมันยังเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุด ซึ่งออกแบบมาให้ทำความเร็วได้ถึง 23 มัค เร็วสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนแยกตัวจากท่อนบนหรือแคปซูลลูกเรือยานโอเรียน
อย่างไรก็ตามความพยายามพัฒนาต้องเผชิญกับปัญหาล่าช้าหลายต่อหลายครั้งและงบประมาณบานปลาย โดยเดิมทีเที่ยวบินแรกมีกำหนดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2018 และต้นทุนของจรวดเพิ่มขึ้นจากเดิม 6,200 ล้านดอลาร์ เป็น 8,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 29%
ในการให้สัมภาษณ์ขณะยืนอยู่ด้านหน้าจรวดสีส้มขนาดมหึมา ณ โรงประกอบ Michoud ในนิวออร์ลีนส์ ทางจิม บริเดนสไตน์ ผู้บริหารของนาซ่า ระบุว่าการได้ออกมาแถลงว่าการสร้างจรวด SLS เสร็จสิ้นแล้ว ซึ้่งเป็นขั้นตอนอันสำคัญ ถือเป็นวันที่สำคัญยิ่งของหน่วยงานอวกาศแห่งนี้ "เรากำลังมีความคืบหน้าใหญ่หลวงในการมุ่งสู่เป้าหมายภารกิจอาร์ทิมิส 3 และนำพาผู้หญิงคนแรกของเรา และชายคนต่อไป ไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2024"
คาดหมายว่าภารกิจอาร์ทิมิส 3 จะถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าในเดือนมิถุนายน 2020 แต่การทดสอบครั้งแรกนั้นจะเป็นแบบไม่บรรทุกลูกเรือ
นาซามีแผนนำยานไปจนจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อสำรวจลักษณะของน้ำแข็ง เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำแข็งที่ค้นพบเมื่อปี 2009 โดยแบ่งใช้ทั้งเพื่อดำรงชีพ และเพื่อแยกไฮโดรเจนและออกซิเจนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงของจรวด
หน่วยงานแห่งนี้มองการกลับคืนสู่ดวงจันทร์ ในฐานะสนามทดสอบสำหรับภารกิจในภายภาคหน้า นั่นก็คือการมุ่งสู่ดาวอังคารในช่วงทศวรรษ 2030
ไม่ใช่งบประมาณจรวดเท่านั้นที่บานปลาย โดยจนถึงปี 2019 นาซาได้ใช้เงินไปแล้วราว 34,000 ล้านดอลลาร์ในการสร้าง SLS, ยานโอเรียนและลงทุนในโครงการระดับต่างๆสำหรับสำรวจภาคพื้น และคาดหมายว่างบประมาณจะพุ่งเหนือ 50,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2024