ท่ามกลางสังคมที่ทุกคนปรารถนา "ชีวิตที่ดี" และความสุขคือสิ่งที่ทุกคนอยากได้ อยากมี แต่บางทีอาจต้องเจอกับชีวิตที่ดำดิ่ง จ้องตากับความทุกข์ใจ เผชิญหน้ากับความโศกเศร้ากันมาก่อน บางคนถึงขั้นรังเกียจตัวเอง หลายคนเคยโทษตัวเองอยู่บ่อยๆ
ค่าย "นักเล่าความสุข" จึงเกิดขึ้นเพื่อเหลาคมความคิด และตัวอักษรให้นักเขียน และช่างภาพเปลี่ยนตัวหนังสือเป็นพลัง สร้างแรงบันดาลใจ และถ่ายทอดเรื่องเล่าให้คนเข้าถึงความสุขได้มากขึ้่น เพราะไม่ว่าสุขนั้นจะเล็กหรือใหญ่ มันอาจช่วยให้ใครอีกหลายคนได้ค้นพบความสุขด้วยเช่นกัน
"การจะให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเต็มใจ และมีความสุข ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ หรือเรื่องอะไรก็ตาม ความรู้ในรูปแบบวิชาการอาจไม่น่าสนใจอีกต่อไป แต่ถ้ามีนักเล่าเรื่องเก่งๆ เชื่อมโยงเก่งๆ คนจะเชื่อ และอินเข้าไปในใจ ซึ่งมันยั่งยืนกว่า เป็นการเสริมทัพการสื่อสารรุ่นเดิมๆ สู่การสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ ส่วนตัวเชื่อในพลังของตัวหนังสือ สามารถขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีได้ และกระตุ้นให้คนมีพลัง และทำอะไรดีๆ ได้มากมาย เช่น ออกมาวิ่ง ออกมาดูแลสุขภาพ"
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงความคาดหวังจากค่ายนี้ ซึ่งร่วมกับนิตยสารสารคดี โดยมีนักเล่าความสุขร่วมสมัครกว่า 160 ทีม จากผู้สมัครกว่า 400 คน จากทั่วประเทศ คัดเลือกจนได้ 30 ทีม มาร่วมกิจกรรม ซึ่งมีกระบวนการการจัดอบรมการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ "ความสุข" ของตนมาเผยแพร่สู่สังคม
ที่น่าสนใจในวันเปิดค่ายเมื่อเร็วๆ นี้ มีรุ่นพี่ผู้สร้างโลกสวยๆ ผ่านตัวหนังสือ "สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์" หรือ "นิ้วกลม" มาเล่าถึง ความสุขในหัวข้อ "สิ่งสำคัญของหัวใจ" เพื่อกระตุ้นให้เกิดพลังความสุขที่จะคิดและทำอะไรดีๆ และนี่คือ 4 ความสุขที่นำมาเล่าสู่กันฟัง
ความสุขเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์
ความสุขอย่างแรกของมนุษย์ นิ้วกลมให้ความสำคัญกับชีวิตที่ต้องมีพื้นที่ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เขาเรียกมันในชื่อเล่นว่า "ความบ้า" ถ้าเมื่อไรที่ดำเนินชีวิตแล้วไม่มีต่อมบ้าพุ่งออกมาเลย ถึงวันหนึ่งอาจจะคล้ายๆ กับก้อนอะไรหน่วงๆ ในตัวเรา นั่นเพราะไม่ได้ปลดปล่อยพลังความบ้าออกมา
"ธรรมชาติของมนุษย์ มีต่อมของความยียวน กวนๆ มันคือต่อมที่มีอยู่ตัวเรา มันจะออกมาตอนที่เราอยู่กับเพื่อนที่สนิทมากๆ หรือตอนที่เรามึนหน่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริง มันเป็นต่อมที่สนุก เราไม่ค่อยใช้มันในการใช้ชีวิตปกติ ไม่ค่อยใช้มันในการทำงาน ซึ่งจะเป็นอีกโหมดเลยก็คือ โหมดจริงจังมาก"
ความสุขเกิดขึ้นเมื่อมีอุปสรรคที่มีคุณค่ามากพอ
ความสุขแบบที่สอง เขาพยายามชี้ให้เห็นถึง "อุปสรรค" ที่เป็นส่วนหนึ่งของความสุข
"มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่านในช่วงที่ผมดิ่งสุดในชีวิตชื่อว่า Resilience แปลว่าการกระเด้งตัวกลับมา หรือว่ายืดหยุ่นแล้วเด้งกลับไปอยู่ในจุดที่มันโอเคเหมือนเดิม ผู้เขียนพูดถึงความสุขไว้ 3 แบบด้วยกัน แบบที่ 1 เรามีความสุขแบบพื้นฐาน คือการได้กินของอร่อย ได้นั่งอยู่ในที่เย็นๆ ฟังเพลงเพราะๆ
ความสุขแบบที่ 2 คือความสุขในแบบที่อัตตาของเรามันเล็กมากๆ เช่น เวลาอยู่ในธรรมชาติที่มันใหญ่มากๆ เช่น เวลาเห็นพระอาทิตย์ตกดินที่ทะเล เรารู้สึกว่ามันสวยจังเลย ในโมเมนต์นั้นเรามีความสุขมาก หรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ทุกคนทำในสิ่งเดียวกัน ด้วยเสียงสั่นสะเทือนเดียวกัน เช่น การสวดมนต์ ซึ่งในความรู้สึกขณะนั้นตัวเราจะหายไป
ความสุขแบบแรก และแบบที่สอง เราเดินไปหามันได้ ซื้อได้ แต่มีความสุขอีกประเภทหนึ่งที่ซื้อไม่ได้ เดินไปหาก็ไม่เจอ คือความสุขที่ต้องเกิดจากการเอาชนะอะไรบางอย่าง ถ้าเมื่อไรในชีวิตมนุษย์ไม่มีโจทย์ยากให้เอาชนะ เราจะตื่นมาด้วยความรู้สึกว่า แล้วไงต่อ ไม่ค่อยรู้สึกอยากใช้ชีวิตต่อเท่าไร" เขาพูดจบพร้อมกับยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง
"ผมเคยอยู่ในช่วงเวลานั้น ผมผ่านมันมาได้ด้วยการตั้งโจทย์ไปวิ่งมาราธอน ทั้งที่ตัวเองวิ่ง 2 กิโลก็เหนื่อยหอบมากๆ แล้ว พอเราไปวิ่งมาราธอนได้ ผมว่าพลังชีวิตมันกลับมา หลังจากนั้นผมเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์เลยว่า ชีวิตมนุษย์มันต้องมีเป้าหมายบางอย่างให้เอาชนะ ในเรื่องใดก็ได้ เรามักจะคาดหวังว่าชีวิตที่มีความสุข มันคือชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ หรืออุปสรรคใดๆ เจือปนเลย แต่มันตรงกันข้าม ชีวิตที่มีความสุขมันจำเป็นต้องผ่านความทุกข์ และต้องมีอุปสรรคที่มันยากมากๆ ด้วย ถ้าไม่มีเลยมันจะว่างเปล่า ถ้าไม่มีความทุกข์ให้ข้ามผ่านอะไรเลย เราอาจจะไม่มีพลังอะไรเลยก็ได้"
ความสุขเกิดขึ้นเมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ที่มาภาพ : Travelblog.org
ความสุขแบบที่ 3 เขาเล่าจากประสบการณ์เมื่อครั้งเดินทางไปทำสารคดีที่ประเทศเอธิโอเปีย และได้เจอกับชนเผ่าฮามาร์ ความน่าสนใจอยู่ที่พิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวต้องนำวัวมาเรียงกันประมาณ 20 ตัว แล้วพิสูจน์ศักยภาพตัวเองด้วยการกระโดดข้ามวัวทีละตัวเพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งชุดเจ้าบ่าวมีแค่เชือกเส้นเดียว ทีเหลือคือไม่ใส่อะไรเลย ส่วนแขกแต่งกันเต็มยศ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง
แน่นอนว่าเรื่องนี้ฟังดูแปลกประหลาด แต่สำหรับนิ้วกลม เขามองว่า ความสุขไม่ได้เกิดจากการได้เห็นของแปลก หรือของประหลาด แต่มันคือความสุขที่เกิดขึ้นจากการได้เรียนรู้ว่า ในโลกใบนี้มีสิ่งที่ยังไม่รู้ ยังไม่เคยเห็นมาก่อน
ความสุขเกิดขึ้นเมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น
ความสุขแบบที่ 4 เขาสอดแทรกไว้ในเรื่องเล่าตอนหนึ่งเมื่อครั้งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีเดินทางไปที่องค์การนาซ่า ตอนนั้นทำโครงการส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ มีโมเมนต์เล็กๆ ที่ประธานาธิบดีเดินผ่านคุณลุงภารโรงคนหนึ่ง แล้วถามขึ้นว่า คุณลุงทำอะไรอยู่ ลุงคนนั้นกำลังถูพื้น และตอบว่า เขากำลังช่วยส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์
คำตอบนี้ทำให้ "นิ้วกลม" นึกถึงนิทานเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่มีคนเคยเล่าว่า มีผู้ชาย 3 คน เป็นนายช่าง กำลังเอาอิฐมาก่อเจดีย์กันอยู่ เดินไปถามคนแรกว่าทำอะไร เขาบอกว่า ทำงานอยู่ เหนื่อยมาก วันๆ ได้แต่ก่ออิฐ เหนื่อย เดินไปถามคนที่ 2 เขาบอกว่า หาเงินเลี้ยงลูกอยู่ ตื่นมาก่ออิฐทุกวันเลย ลูกเมียต้องมีข้าวกิน พอเดินไปถามคนที่ 3 เขาบอกว่า กำลังสร้างเจดีย์เพื่อให้คนในชุมชนได้มาบูชาร่วมกัน ทั้ง 3 คนทำในสิ่งเดียวกันหมด แต่คำตอบไม่เหมือนกันเลย
"ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันกับคุณลุงที่นาซ่า งานที่ทุกคนทำอยู่ ตระหนักถึงคุณค่าที่ตัวเองทำที่แตกต่างกัน คนที่รู้สึกว่ากำลังทำในสิ่งที่มันมีคุณค่า และความหมายกับตัวเองและคนอื่น จะเป็นคนที่มีความสุข แม้ความเหนื่อยของทั้ง 3 คนจะเท่ากันก็ตาม"
ทั้ง 4 ความสุข ไม่ว่าสุขนั้นจะเล็กหรือใหญ่ มันอาจช่วยให้ใครอีกหลายคนได้ค้นพบความสุข เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือ นิ้วกลมเคยบอกว่า มันไม่ใช่การสร้างโลกในจินตนาการ แต่เป็นการสร้างโลกสวยๆ ในความจริงขึ้นมา ดังนั้น อีกหนึ่งความสุขปิดท้ายก็คือ "ความสุขเกิดขึ้นเมื่อได้อ่านเรื่องราวดีๆ" และค่ายนักเล่าความสุขกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่