รัฐบาลไทยลงมือทำจริง เปิดโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” ปั้นงานวิ่งมาราธอนไทยสู่มาตรฐานระดับโลกเพื่อเป้าหมายขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนใน 3 ปี ประเดิมปีแรกดึง 5งานวิ่งแถวหน้าร่วมนำร่องวางรากฐาน
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผนึกกำลังร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” (THAILAND ROAD RACING STANDARD) ยกระดับงานวิ่งมาราธอนไทยสู่มาตรฐานโลก ปูทางสู่เบอร์ 1 ของอาเซียนใน 3 ปี พร้อมประเดิมดึง 5 งานวิ่งแถวหน้าของประเทศนำร่องวางมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.62 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” (THAILAND ROAD RACING STANDARD) ยกระดับงานวิ่งมาราธอนไทยสู่มาตรฐานโลก โดยมี คาห์ลัน อัล จูมาน ฮาเม็ด ประธานสหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย พร้อมด้วยพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นายกสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย, นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา กกท.
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเห็นถึงผลประโยชน์และโอกาสที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ ผ่านการจัดงานวิ่งมาราธอนที่ได้มาตรฐาน ภายใต้นโยบาย สปอร์ต ทัวริซึ่ม ที่นอกจากจะช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนแล้ว ยังดึงดูดความสนใจจากชาวต่างชาติ ช่วยสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับประเทศไทยด้วย จึงเป็นที่มาของการลงมือทำโครงการนี้ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการดึง 5 งานวิ่งแถวหน้าของประเทศมาเป็นต้นแบบนำร่องงานวิ่งอื่นๆ ประกอบด้วย บางแสน 42 ชลบุรีมาราธอน, บุรีรัมย์ มาราธอน, จอมบึงมาราธอน, ภูเก็ตธอน, บางกอก มิดไนท์ มาราธอน และเพื่อเป้าหมายคือการขึ้นเป็นผู้นำด้านการจัดงานวิ่งมาราธอนเบอร์ 1 ของอาเซียน ภายใน 3 ปีจากนี้ และสร้างมาตรฐานงานวิ่งที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยสืบไป
มร.คาห์ลัน อัล จูมาน ฮาเม็ด ประธานสหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย กล่าวว่า สหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลไทยในการที่จะยกระดับงานวิ่งมาราธอนทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานระดับโลก ภายใต้มาตรฐานสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ World Athletics Road Race ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานในระดับสากลที่มีมาตรฐานหนึ่งเดียวของการวิ่งบนถนนที่มีความเชื่อถือที่สุดในโลก เราจึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องบุคลากร แนวทางความรู้ การวางแผนการจัดการต่างๆ
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นายกสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการ ตั้งแต่การวางมาตรฐานและคัดเลือกงานวิ่งที่จะเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งในปีแรกนี้จะเห็นได้ว่างานวิ่งทั้ง 5รายการที่เข้ามาร่วมนำร่อง ล้วนแล้วแต่เป็นงานวิ่งที่มีมาตรฐานและมีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะบุรีรัมย์ มาราธอน ที่ได้รับรองจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ World Athletics Road Race ให้เป็นรายการวิ่งระดับ "บรอนซ์เลเบล" อย่างเป็นทางงานแรกของเมืองไทย รวมถึง บางแสน ฮาล์ฟ 21 มาราธอน ที่ได้ซิลเวอร์เลเบล ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ในอนาคตประเทศไทยมีงานวิ่งระดับบรอนซ์เลเบลมากขึ้น ก่อนจะต่อยอดสู่ระดับซิลเวอร์และโกลด์ต่อไป
นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า กกท. มั่นใจว่าโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” จะช่วยยกระดับงานวิ่งมาราธอนทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานระดับโลก รวมถึงทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ไทยแลนด์ มาราธอน เมเจอร์ส เทียบเท่ากับนานาชาติ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Impact ให้แก่ประเทศอย่างล้นหลาม วัดได้จาก 5 งานวิ่งที่เข้ามาร่วมนำร่อง ซึ่งทั้ง 5 รายการสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนรวมกันเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท/ปี โดยทั้ง 5 งานนี้จะมาช่วยให้แนวทาง องค์ความรู้ และวางมาตรฐานสำหรับให้งานวิ่งอื่นๆ ได้ก้าวตามต่อไป
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับงานวิ่งทั่วประเทศไทยอย่างแท้จริง และเมื่อเมืองไทยมีงานวิ่งที่ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น มีงานวิ่งที่มีสไตล์ของตัวเองแตกต่างกันไป ก็จะกลายเป็นโปรดักที่ส์มีชาวต่างชาติให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนักวิ่งที่เดินทางมาร่วมวิ่งและผู้ติดตาม ตลอดจนนักลงทุน สปอนเซอร์สินค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวิ่งทั่วโลก (Brand Awareness) สิ่งเหล่านี้จะดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศมากมายมหาศาล ททท. จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและช่วยโปรโมตโครงการสู่ระดับนานาชาติอย่างเต็มที่
นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัด อีเวนท์การแข่งขันรายการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกีฬาแห่งมวลชนมากกว่า 1,200 รายการต่อปี งานวิ่งมาราธอนถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉลี่ย 1 งาน สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ทาง สสปน. ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจในการสนับสนุนและดึงงานประเภทกีฬามวลชน (Mass Participation) เข้ามาจัดในประเทศไทย จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานงานวิ่งมาราธอนในประเทศไทย นำมาซึ่งการสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดให้นักวิ่งจากต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานวิ่งมาราธอนในประเทศไทยมากขึ้น
ดร.นายแพทยไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนเรื่องการจัดงานวิ่งและการออกกำลังกายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำให้ประชาชนมีความรู้ผ่านงานวิจัยที่เราทำ ทำการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสนับสนุนและจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” อย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะช่วยยกระดับการจัดงานวิ่งในประเทศไทยและช่วยให้ประชาชนสนใจอยากที่จะมาวิ่งมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีพิธีมอบโล่แสดงความยินดีให้กับ “บุรีรัมย์ มาราธอน” ที่ได้รับรองให้เป็นงานวิ่งมาราธอน ระดับบรอนซ์เลเบล และบางแสน ฮาล์ฟ 21 มาราธอน ที่ได้รับรองให้เป็นงานวิ่งฮาล์ฟมาราธอน ระดับซิลเวอร์ เลเบล รวมถึงมอบเสื้อสามารถแก่ 5 มาราธอนไทยที่มาร่วมรำร่อง รวมถึงจัดสัมมนาในหัวข้อ “ขับเคลื่อนนโยบาย สู่ความสำเร็จ นำร่องมาราธอนไทยสู่มาตรฐานโลก”, หลากมิติแห่งความสำเร็จ การเติบโตจากงานวิ่งมาราธอนในมาตรฐานโลก” และ “Roadmap ก้าวแรกสู่ Bronze Label ก้าวไกลให้ถึง Gold Label”
พร้อมกันนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ มาร่วมบรรยายให้ความรู้ถึงประสบการณ์การจัดงานวิ่งระดับโลกใน 2 อีเวนท์สำคัญคือ 1.กุญแจแห่งความสำเร็จของ “โคเปเฮเกน ฮาล์ฟ มาราธอน” งานวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกภายใต้มาตรฐานโกลด์ เลเบล โดย เจคอบ ลาร์เซ็น
และ 2.ประสบการณ์การใช้งานวิ่งมาราธอนในการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดย เอลานา เมเยอร์ อดีตนักวิ่งมาราธอนชาวแอฟริกาใต้ ดีกรีเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ ผู้ผันตัวมาพัฒนาเมืองบ้านเกิดเคปทาวน์ ให้กลายเป็นเมืองสปอร์ตทัวริซึมระดับโลก พร้อมใช้เวลาเพียง 3 ปี ปั้นงานวิ่ง “เคปทาวน์ มาราธอน” จนคว้าโกลด์ เลเบล ได้สำเร็จ