สสส. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ผลักดันสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ หลังพบคนป่วยจากบุหรี่รักษาที่โรงพยาบาลมากกว่า 5 แสนครั้ง ค่ารักษาพุ่งกว่า 2 หมื่นล้านบาท พร้อมจัด “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชวนช่วยเลิกบุหรี่” มาตรการเชิงรุก ชวนชุมชนเลิกบุหรี่
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่” สสส. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อนงานชวน ช่วย เลิกบุหรี่ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ โดยมีนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะการชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 มีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638บาท หรือ 6,806 บาทต่อวัน ดังนั้นการช่วยเลิกบุหรี่จึงมีความจำเป็น สสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงราย ลพบุรี นครนายก นครปฐม ปทุมธานี กาญจนบุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ สกลนคร กรุงเทพฯ ตรัง นราธิวาส และสถานประกอบการ 3 แห่ง (สมุทรปราการ และ ตรัง) ทำงานผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” ซึ่งกระจายทุกหมู่บ้าน และใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มากที่สุด โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่
ด้าน น.ส.นิรดา แสนรัตน์ ผู้รับผิดชอบโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย สนับสนุนการใช้มาตรการและการรณรงค์ เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างต่อเนื่อง แต่การช่วยให้คนเลิกสูบยังดำเนินการได้น้อยกว่ามาตรการอื่น ๆ ถึงแม้จะมีการจัดระบบบริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล แต่พบว่าการเข้าถึงบริการในคลินิกเลิกบุหรี่ยังมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น การช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่จึงต้องทำทั้งเชิงรับและเชิงรุก เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่ทั้งในและนอกระบบโรงพยาบาลเข้าถึงระบบบริการ รวมทั้งส่งเสริมให้คนในชุมชนมีบทบาทในการแก้ปัญหาหรือลดอัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่หรือชุมชนของตนเอง ทั้งนี้ สสส. ได้รวบรวมองค์ความรู้ ตลอดจนเผยแพร่การขับเคลื่อนงานชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ให้สังคมเกิดการรับรู้อย่างต่อเนื่องและขยายออกไปในวงกว้าง นำไปสู่การเกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้
นางขนิษฐา ตั้งกิตติวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รพ.สต. โพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม ตัวแทน รพ.สต.กล่าวว่า จากการดำเนินงานชวน ช่วย เลิกบุหรี่ที่ผ่านมา สามารถเชิญชวนผู้ติดบุหรี่ในพื้นที่เข้าโครงการ 300 – 400 คน เลิกได้ 61 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการติดตาม พูดคุยเพื่อให้เลิกบุหรี่ให้ได้ โดยให้ อสม. ในพื้นที่ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการชวน ช่วยเลิกบุหรี่ ด้วยการติดอาวุธให้ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลิกบุหรี่ รวมทั้งแนะนำสมุนไพรและตัวช่วยต่าง ๆ และวิธีนวดกดจุดเลิกบุหรี่ ฯลฯ
ขณะที่ ร้อยโท นพนนท์ ศรีอิ่ม บุคคลต้นแบบเลิกบุหรี่ จ.ราชบุรี กล่าวถึงแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ หลังจากสูบมานานกว่า 40 ปี ว่า มีปัญหาเรื่องสุขภาพและต้องการลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย จากการที่ต้องซื้อบุหรี่วันละ 200 บาท ตนใช้ระยะเวลาถึง 4 เดือนก็สามารถเลิกได้ หลังเลิกสูบร่างกายแข็งแรงขึ้น อาการเจ็บหน้าอกหายไป หน้าตาสดใส ไม่หมองคล้ำ ขณะนี้ได้ขยายผลการชวน ช่วยเลิกบุหรี่ ไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ด้วยการเข้าไปให้ความรู้ บรรยายถึงพิษภัยของบุหรี่ในวิทยาลัยเทคนิค โดยเน้นย้ำให้ทราบว่า บุหรี่เป็นที่มาของปัญหายาเสพติดทั้งหมด เป็นขั้นแรกของการเข้าสู่วังวนการติดยาเสพติด ดังนั้น ถ้าแก้ไขโดยการยุติการสูบบุหรี่ได้ ลูกหลานเราก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด