สสส. จับมือ ศอ.บต. สปสช. และ สจรส.ม.อ. ผลักดันโครงการด้านการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังแก้ปัญหายาเสพติด และส่งเสริมสุขภาพประชาชนในช่วงถือศีลอด
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากสุรา ยาสูบ และยาเสพติดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) ว่า ศอ.บต. ในฐานะเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การศึกษา สิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการสูบบุหรี่ และการเสพยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนและแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพื่อให้ได้รับการแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพและบทบาทของส่วนท้องถิ่น ให้เกิดระบบกลไกการดูสุขภาพ ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของ สสส. ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนนั้น จำเป็นต้องสร้างกลไกเชิงสังคม นโยบาย สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อลดการบริโภคยาสูบ และควันบุหรี่มือสอง ปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกเป็นนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งการที่ท้องถิ่นเข้าใจงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ มีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงประชาชนได้ โดยสถานการณ์การบริโภคยาสูบ และดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในปัจจุบัน ยังพบว่าประชากรที่อยู่นอกเขตเทศบาล มีการบริโภคยาสูบและดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าในเขตเทศบาล จึงจำเป็นต้องสนับสนุนกลไก ด้วยการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นและกลไกอาสาสมัครเพื่อการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากสุรา ยาสูบ และยาเสพติด ให้เกิดภาคีเครือข่ายนักสร้างสุขภาวะที่จะช่วยกันลดพฤติกรรมเสี่ยงประชาชนอย่างมีคุณภาพ
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ผล ควรเป็นส่งเสริมสุขภาพที่ขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สจรส.ม.อ. จึงได้ร่วมกับ ศอ.บต. สสส. สปสช. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ เพื่อบริหารจัดการด้านปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพในชุมชนในพื้นที่ 44 อำเภอ โดยบัณฑิตอาสาฯ เข้าอบรม 140 คน ซึ่งเป็นการนำร่องการอบรมการจัดทำโครงการและบริหารโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพที่ได้รับประมาณจาก สปสช. จัดสรรงบประมาณเฉลี่ยตามจำนวนประชากรเป็นเงิน 45 บาทต่อคนต่อปี และเงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 30 - 100 ของงบประมาณทั้งหมด
ดร.ศิริวิตญ์ ดอกแก้ว ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับหมู่บ้าน ศอ.บต. กล่าวว่า ปัจจุบันมีบัณฑิตอาสาฯ ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทน ศอ.บต. กระจายตามหมู่บ้านทุกพื้นที่รวม 2,249 คน หากบัณฑิตอาสาฯ เหล่านี้มีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการโครงการเพื่อส่งเสริมสุภาพประชาชน ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพของชุมชนประจำตำบล และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ปัญหาด้านยาเสพติด ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับจะลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ อยากเห็นการบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยการบริหารจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพให้เป็นไปตามหลักวิชาการและมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชายแดนใต้