หมอชี้ “บุหรี่” ทำลายหัวใจและหลอดเลือด คร่าชีวิตคนไทยปีละ 15,000 คน รับควันบุหรี่มือสอง 30 นาที ก็เกิดผลกระทบกับหัวใจได้ เผย คนสูบบุหรี่ลดลงเหลือ 10.7 ล้านคน ตั้งเป้าลดลงอีกปีละ 2.5 แสนคนต่อเนื่อง 7 ปี ช่วยลดอัตราสูบบุหรี่ถึงเป้าหมาย ลดโรคเรื้อรัง 25% ย้ำบุหรี่ไร้ควันก็เป็นพิษ
วันนี้ (21 พ.ค.) นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี กรรมการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานวันงดสูบบุหรี่โลก 2561 บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหัวใจรูห์มาติค โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และภาวะหลอดเลือดขาและปอดอุดตัน ซึ่งทั้งหมดมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มี 1. สารนิโคติน ทำให้หลอดเลือดแดงหดเกร็ง ลดความยืดหยุ่นของเส้นเลือด เพิ่มไฟบริโนเจต ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น และเพิ่มการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ลดคอเลสเตอรอลชนิดดี เพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเลว และ 2. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่จะขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือด ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง และคาร์บอนมอนอกไซด์จะจับฮีโมโกลบินแทนออกซิเจน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานลดลง แรงบีบตัวลดลง ส่งผลหัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำงานมากขึ้นและผิดจังหวะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีฟอร์มาลดีไฮด์ อาร์เซนิก และไซยาไนด์ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย
“การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น การไม่สูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่สำคัญที่สุด และในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะเป็นการลดอัตราการเกิดโรคซ้ำและลดอัตราตายได้ สำหรับการป้องกันโรคหัวใจ แนะนำให้ให้ใช้หลัก อารมณ์ อาหาร และออกกำลังกาย เพราะหากมีสภาวะอารมณ์ที่ดี รับประทานอาหารที่ดี และมีการออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะช่วยลดภาวะการอักเสบป้องกันโรคหัวใจ ช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น” นพ.ประดิษฐ์ชัย กล่าว
นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนอค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันงดสูบบุหรี่โลกปี 2561 องค์การอนามัยโลกใช้ประเด็นบุหรี่กับหัวใจในการรณรงค์ปีนี้ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย แต่ละปีการสูบบุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปเกือบ 3 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยพบว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 15,000 คน มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ที่มีสารนิโคติน สารเคมีเป็นพิษ และก๊าซต่างๆ ที่ไปทำลายผนังหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด หลอดเลือดตีบตัน และขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปสู่หัวใจ กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ โดยผู้ใหญ่วัยทำงานมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองอุดตันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึงสี่เท่า แม้ประเทศไทยจะมีการควบคุมยาสูบ แต่การสูบบุหรี่ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ โดยผู้ใหญ่ยังมีการสูบถึง 1 ใน 5 เด็กและเยาวชนยังสูบ 1 ใน 6 คิดเป็นจำนวนเกือบถึง 11 ล้านคน ทำลายทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เพราะต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่หากเลิกสูบบุหรี่ได้ จะลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่ ปีนี้จึงเหมาะที่จะรณรงค์เรื่องบุหรี่กับหัวใจ จึงอยากให้ทุกหน่วยงานร่วมรณรงค์ รวมถึงบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 อย่างเข้มงวด ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการลองสูบบุหรี่ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า คนไทยอายุมากกว่า 15 ปี มี 17.3 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ซึ่งการรับควันบุหรี่มือสองยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้ โดยการรับควันบุหรี่มือสองเพียง 30 นาที ก็เกิดอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือด และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลงได้ โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองปีละ 6,500 คน โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองปีละ 2,615 คน จึงขอเรียกร้องผู้ที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน เพื่อลดอันตรายที่คนในบ้านจะได้รับจากควันบุหรี่ ส่วนควันบุหรี่มือสาม ที่ติดในรถ เสื้อผ้า หรือพื้นบ้าน ยืนยันว่าสารพิษฟุ้งขึ้นมาในอากาศได้อีกและสูดเข้าไปได้ ซึ่งหากข้อมูลจะพบว่า สัตว์เลี้ยงในบ้านเกิดมะเร็งมากขึ้น สุนัขและแมวเกิดมะเร็งมากขึ้น 2 เท่า โดยสุนัขจมูกสั้นจะเกิดมะเร็งปอด สุนัขจมูกยาวเกิดมะเร็งที่จมูกและลำคอ
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยสูบบุหรี่ลดลง โดยปี 2560 สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน ลดลงจากปี 2557 ที่สูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน หรือ 3 ปี ลดลงประมาณ 7 แสนคน เฉลี่ยลดลงปีละ 2.33 แสนคน ส่วนผู้ที่เลิกได้แล้วมีประมาณ 4.75 ล้านคน แต่จากตัวเลขดังกล่าวถือว่ายังไม่พอ ต้องทำงานเพื่อลดความสูญเสียให้มากขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่า จาก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่ออกมาใหม่ หากทุกฝ่ายช่วยกันบังคับใช้ เชื่อว่าคนสูบบุหรี่จะลดลงเร็ว ซึ่งถ้าจะลดลงให้ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลทั่วโลกรับไปดำเนินการ คือ ต้องเหลือคนสูบบุหรี่ 9 ล้านคนภยในปี 2569 หรือภายใน 7 ปี ต้องลดคนสูบบุหรี่ให้ได้ 2.5 แสนคนทุกปี จะช่วยให้การเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังจะลดลง 25%
ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และแพทย์ด้านโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2554 พบว่า มีคนไทย 12.2 ล้านคน ไม่รู้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจวาย และมี 18.5 ล้านค ไม่รู้ว่าได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจได้ ทั้งนี้ คนไทยที่อายุ 30 - 40 ปี ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 4 เท่า พูดอีกนัยหนึ่งคือ เกือบครึ่งหนึ่งของคนวัยหนุ่มสาวถึงกลางคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ โดยการสูบบุหรี่ 1 - 2 มวนต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แม้แต่การสูบบุหรี่ไร้ควัน ก็มีสารนิโคตินที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึง 30%