คนไทยป่วย “ความดันโลหิตสูง” มากขึ้น พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 3 แสนราย สธ. ร่วม ธ.กรุงไทย 200 แห่งทั้ง กทม. และ ปริมณฑล ตั้งเครื่องวัดความดัยอัตโนมัติให้บริการประชาชนขณะรอคิว ส่งผ่านข้อมูลให้ สธ. ย้ำตัวเลขต้องไม่เกิน 120/80 ชี้ คนอายุ 35 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวป่วย คนอ้วน ควรหมั่นตรวจวัดความดัน
วันนี้ (17 พ.ค.) นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานกิจกรรมรณรงค์ “วันความดันโลหิตสูงโลก ประจำปี 2561” ว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกกำหนดให้วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของโรคดังกล่าว ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ สาเหตุของโรคเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นปัญหามากทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 3,936,171 ราย เป็น 5,597,671 ราย เฉลี่ยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 3 แสนคน ในจำนวนนี้พบว่า ร้อยละ 50 ไม่รู้ตัวเองมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ชาย เพราะสุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยได้เข้าโรงพยาบาลเลยไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ จึงไม่รู้ตัวเองว่าป่วย จะมารู้ตัวอีกทีเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงไปแล้ว เช่น หลอดเลือดหัวใจและสมอง ไต เบาหวาน บางคนช็อก หมดสติ จากภาวะเส้นเลือดสมองตีบ หรือแตกทำให้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพตามมา
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว การรณรงค์ของ สธ. โดยกรมควบคุมโรคปีนี้จะเน้นการเข้าถึงการตรวจสุขภาพวัดความดันให้มากขึ้น โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทย 200 แห่ง ใน กทม. และปริมณฑล ในการเอาเครื่องวัดความดันอัตโนมัติไปตั้งไว้บริการประชาชนที่มารอรับบริการที่ธนาคาร ให้สามารถตรวจวัดความดันได้แล้วจะมีการส่งข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์เข้าระบบสาธารณสุขต่อไป หากคนที่เริ่มมีปัญหาความดันสูง เช่น ตัวเลขขีดบนซึ่งเป็นค่าการบีบตัวของหัวใจเกิน 120 ก็จะมีคำแนะนำเรื่องการปรับพฤติกรรมคือลดการกินเค็มลง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้หากคนที่ยังไม่ป่วยควรมีการตรววัดความดันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 3 -6 เดือนครั้ง หากเริ่มมีปัญหาอาจจะต้องตรวจวัดทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยง คือ อายุมากกว่า 35 ปี ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน
“โรคความดันโลหิตสามารถป้องกันได้ด้วยหลัก คือ 3 อ 2 ส คือ อาหารให้รับประทานแต่พอดี งดอาหารหวาน มัน เค็มจัด ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วันหรืออย่างต่ำสัปดาห์ละ 150 นาที อารมณ์ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่สูบบุหรี่ และ ลดการดื่มสุราเบียร์และเครื่องดื่มมึนเมา ที่สำคัญ ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ เพื่อให้ทราบระดับของตนเองและป้องกันโรค โดยทางสมาพันธ์ความดันโลหิตโลกกำหนดค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ตัวบน (ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว : Systolic) ไม่ควรเกิน 120 ค่าตัวล่าง (ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว : Diastolic) ไม่ควรเกิน 80 หรือที่นิยมกล่าวคือ ไม่เกิน 120/80 สิ่งที่ควรทำเป็นประจำเพื่อประเมินสุขภาพ คือ การชั่งน้ำหนัก และการวัดรอบเอว เป็นต้น” นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว