อย่าประมาท ตามใจปากพา “โรคอ้วนลงพุง” ก่ออาการแทรกซ้อนสารพัดโรค แนะสูตรป้องกัน 2 : 1 : 1 ผัก : แป้ง : โปรตีน
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะที่มีไขมันสะสมในช่องท้อง หรือ อวัยวะภายในช่องท้องมากเกินควร ส่งผลให้พุงยื่นออกมาอย่างชัดเจน เรียกว่า โรคอ้วนลงพุง ซึ่งผลแทรกซ้อนของโรคดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ มากมาย อาทิ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ไตวาย มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงโรคอ้วนลงพุงจะมีลักษณะต่างๆ อย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้ คือ
1. ภาวะอ้วนลงพุง 2. ความดันโลหิตสูง 130/85 มม.ปรอท ขึ้นไป 3. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขึ้นไป 4. ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 5. มีไขมันดี ชนิด HDL ต่ำ โดยเพศชายน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และเพศหญิงน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากพบว่าร่างกายมีลักษณะดังกล่าว ต้องรีบหาแนวทางการรักษาและป้องกันโรคอ้วนลงพุง เพื่อห่างไกลโรคร้าย แทรกซ้อนที่จะตามมาอย่างทันท่วงที
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาและการป้องกันโรคอ้วนลงพุงสามารถทำได้ด้วยการลดน้ำหนัก โดยออกกำลังกาย ครั้งละ 30 นาที จำนวน 5 ครั้ง/สัปดาห์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป ควรลดหวาน มัน เค็ม จำกัดปริมาณอาหารตามสัดส่วนแบบง่ายๆ คือ รับประทานผัก : แป้ง : โปรตีน หรือ 2 : 1 : 1 นอกจากนี้ควรมีเทคนิคในการเลือกรับประทานอาหาร คือ ลดปริมาณข้าวให้น้อยกว่าปกติ หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด มัน กะทิ เลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา หมูไม่ติดมัน ไก่ไม่ติดหนัง เต้าหู้ ไข่ต้ม เพิ่มปริมาณผัก ดื่มน้ำเปล่าหลีกเลี่ยงน้ำหวานและน้ำอัดลม หากสามารถปฏิบัติตน ตามคำแนะนำต่างๆเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากโรคที่เป็นอยู่ หลีกหนีโรคอ้วนลงพุง ส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย