xs
xsm
sm
md
lg

ซดเบียร์เกิน 10 กระป๋องต่อสัปดาห์ เสี่ยงตายเร็วขึ้นอย่างต่ำ 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เผยผลวิจัยระดับโลก ชี้ชัดดื่มเบียร์ - เหล้า - ไวน์ เพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ชี้ ซดเบียร์มากกว่า 10 กระป๋องต่อสัปดาห์ เสี่ยงตายเร็วขึ้น 6 เดือน - 5 ปี ระบุไม่พบประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

วันนี้ (18 เม.ย.) ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ขณะนี้มีงานวิจัยยืนยันชัดว่า ระดับปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีระดับไหนที่ดื่มแล้วปลอดภัย แต่ชัดเจนว่าสัมพันธ์กับผลเสียทางสุขภาพโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ ล่าสุด มีการอ้างอิงงานวิจัยเรื่อง “Risk thresholds for alcohol consumption: combined analysis of individual-participant data for 599 912 current drinkers in 83 prospective studies” ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2561 ในวารสาร Lancet พบข้อมูลสำคัญ คือ การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากกว่า 100 กรัม หรือ 7 - 10 หน่วยดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมอย่างต่อเนื่องทั้งในเพศชายและหญิง รวมถึงไม่พบประโยชน์ของการดื่มปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่า 100 กรัมต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ 1 หน่วยดื่มมาตรฐาน เท่ากับ ปริมาณของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 10 - 14 กรัม หรือเทียบเท่ากับเบียร์ที่น้อยกว่า 5 ดีกรี 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว หรือเหล้า/สุรา 1 เป๊ก/ก๊ง

ศ.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ ศึกษาปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ต่อการเสียชีวิตโดยรวม และโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดต่างๆ ประกอบด้วย โรคหลอดเลือดสมองทุกชนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ ที่ไม่รวมถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดชนิดอื่นๆ ได้แก่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง มีผู้เข้าร่วมงานวิจัยซึ่งเป็นประชากรที่ดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ จำนวน 599,912 คน ในประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 30 ประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศในแถบยุโรป เมื่อติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยเฉลี่ย 7 ปี พบว่า มีคนเสียชีวิตโดยรวม 40,310 ราย และเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ จำนวน 39,018 ราย

ศ.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ยังชี้ชัดว่า หากดื่มปริมาณมากกว่า 100 กรัมต่อสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอีก 1.14 เท่า โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดอื่นๆ 1.06 เท่า และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ 1.18 เท่า และพบว่า ไม่มีระดับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย หรือได้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า การดื่มเบียร์ หรือ สุรากลั่น มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยรวมมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มไวน์ การศึกษายังระบุว่า หากดื่มสุรา 100 - 200 กรัมต่อสัปดาห์ จะเสียชีวิตเร็วขึ้น 6 เดือน หากดื่ม 200 - 350 กรัมต่อสัปดาห์จะมีอายุสั้นลง 1 - 2 ปี และหากดื่มมากกว่า 350 กรัมต่อสัปดาห์จะมีอายุสั้นลง 4 - 5 ปี เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มน้อยกว่า 100 กรัมต่อสัปดาห์

“ข้อสรุปที่สำคัญจากงานวิจัยนี้ ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ที่สุด ณ เวลานี้คือ เมื่อพิจารณาโรคหัวใจและหลอดเลือดแต่ละชนิดอย่างละเอียดแล้ว พบว่า ระดับปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 100 กรัมต่อสัปดาห์ (7 - 10 หน่วยดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์) นั้น มีผลเสียต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิดและการเสียชีวิตรวมจากทุกสาเหตุ และไม่มีการดื่มในระดับปริมาณแอลกอฮอล์ใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อโรคหลอดเลือดหัวใจต่างๆ อย่างแท้จริง” ศ.พญ.สาวิตรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น