xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจ “อัลไซเมอร์” ด้วยสารเภสัชรังสี พบแม่นยำสูง เห็นโปรตีนร้ายเกาะสมอง ความหวังใหม่วินิจฉัยได้ในระยะแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิจัยพบตรวจวินิจฉัย “อัลไซเมอร์” ด้วยสารเภสัชรังสี “F-18-AV-45” ให้ผลแม่นยำ ช่วยสแกนเห็น “โปรตีนเบตาอะมัยลอยด์” ที่ไปเกาะในเนื้อสมอง ช่วยแพทย์วางแผนการรักษา ได้เหมาะสม เป็นความหวังใหม่ผู้ป่วย ช่วยวินิจฉัยรักษาสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะแรกๆ

รศ.พญ.ธัญญลักษณ์ เธียรธัญญกิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ส่วนใหญ่การตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ ในทางคลินิกแพทย์จะใช้วิธีการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การประเมินทางจิตประสาท การประเมินความสามารถในกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น แต่การวินิจฉัยทางคลินิกอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ จากโรคประจำตัวอื่นที่คล้ายกับภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือเคยเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกับสมอง เป็นต้น ทีมวิจัยจึงศึกษาการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ทางรังสี ซึ่งมีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยประมาณ 70 - 90% ซึ่งสูงกว่าการตรวจวินิจฉัยทางคลินิก โดยได้รับการสนับสนุนจาก สวรส.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รศ.พญ.ธัญญลักษณ์ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้สังเคราะห์สารเภสัชรังสี F-18-AV-45 ขึ้น สำหรับตรวจหาการสะสมของ “โปรตีนเบตาอะมัยลอยด์” ในผู้ป่วย ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยจะไปเกาะและสะสมตามจุดต่างๆ ในเนื้อสมอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเป็นพิษต่อเนื้อสมอง ทำให้เซลล์สมองตาย ส่งผลให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลงและกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน เช่น หลงลืม เฉยเมย นึกคำพูดไม่ออก และสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองลงไปเรื่อยๆ สำหรับการทำงานของสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 คือ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดแล้วจะมีคุณสมบัติพิเศษในการไปจับตัวกับโปรตีนเบตาอะมัยลอยด์ เมื่อถ่ายภาพสมองผู้ป่วยด้วยเครื่องเพทสแกน จะได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยมีโปรตีนเบตาอะมัยลอยด์สะสมในสมองมากน้อยเพียงใด โดยสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 ใน 1 ครั้ง สามารถใช้ตรวจผู้ป่วยได้ประมาณ 3 - 5 ราย

รศ.พญ.ธัญญลักษณ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นในอาสาสมัครจำนวน 17 ราย พบว่า การตรวจวินิจฉัยทางรังสีด้วยสารเภสัชรังสี F-18-AV-45 มีคุณสมบัติการวินิจฉัยโรคที่มีความสัมพันธ์กับการวินิจฉัยวิธีอื่นๆ คือให้ผลสอดคล้องกับการวินิจฉัยทางคลินิกและผลทดสอบทางจิตประสาท 16 ราย คิดเป็น 94.12% โดยไม่พบอาสาสมัครรายใดที่แสดงอาการข้างเคียงจากการตรวจ ถือว่าให้ผลที่แม่นยำเมื่อเทียบกับการวินิจฉัยทางคลินิก จึงเป็นความหวังหนึ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยทางรังสีควบคู่ไปกับการวินิจฉัยทางคลินิกในอนาคต ช่วยให้แพทย์พิจารณาการให้ยาได้อย่างเหมาะสม และพัฒนายาเพื่อกำจัดหรือลดปริมาณโปรตีนเบตาอะมัยลอยด์ก่อนที่เนื้อสมองจะถูกทำลาย เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนดูแลรักษาผู้ป่วยในขั้นตอนต่อๆ ไป หรือช่วยให้แพทย์ผู้วินิจฉัย ลดหรืองดการให้ยาในกรณีตรวจไม่พบโปรตีนเบตาอะมัยลอยด์ในสมอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาให้กับผู้ป่วยได้

รศ.พญ.ธัญญลักษณ์ กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยในระยะที่ 2 ที่กำลังศึกษาให้ครบในผู้ป่วยอาสาสมัครทั้งสิ้น 85 ราย และจะทำการประเมินต้นทุนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ คาดว่าจะขยายผลการใช้สารเภสัชรังสีนี้ไปยังกลุ่มความร่วมมือวิจัยและโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบกว่าในปัจจุบันซึ่งใช้สารเภสัชรังสี C-11-PiB ที่มีข้อจำกัดว่าใช้ได้เฉพาะในโรงพยาบาล 2 แห่งที่ติดตั้งเครื่องไซโคลตรอนเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งละประมาณ 40,000 บาท



กำลังโหลดความคิดเห็น