“หมอธีระวัฒน์” เตรียมหารือร่วม สธ. หลังสงกรานต์ ศึกษาข้อมูลวิชาการ “กัญชา” ช่วยโรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็ง ได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนขับเคลื่อนปลดล็อกใช้ทางการแพทย์ ชี้ กัญชาผลข้างเคียงลดเจ็บปวดน้อยกว่ามอร์ฟีน
จากกรณี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมตั้งคณะทำงานวิชาการด้านกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยประสาน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธาน ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ก็มอบหมายให้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศึกษาข้อมูลทางวิชาการด้านกัญชาในการรักษาโรคทางสมอง ทั้งลมชัก พาร์กินสัน และโรคมะเร็ง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตนได้รับการประสาน เพื่อมาร่วมกันกับทาง สธ. เกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลวิชาการ และร่วมศึกษาวิจัยว่า สารสกัดจากกัญชาสามารถนำมาใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง เบื้องต้นจะมีโรคทางสมอง อย่างลมชัก พาร์กินสัน รวมไปถึงลดอาการปวดของโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งในวันที่ 19 เมษายนนี้ จะมีการหารือกลุ่มย่อยกันที่ สธ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อหารือถึงขอบเขตการทำงานมุ่งเน้นทางด้านวิชาการ ส่วนเรื่องข้อกฎหมายที่ยังไม่อนุญาตให้มีการวิจัยในมนุษย์ หรือข้อกฎหมายต่างๆ นั้น ทราบว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งอยู่คนละส่วนกับตน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคตกัญชาจะมาแทนมอร์ฟีนได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ แต่กัญชามีผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีน ทั้งที่มอร์ฟีนจัดเป็นสิ่งเสพติดเช่นกัน โดยมอร์ฟีนแม้จะลดการเจ็บปวด แต่หากใช้มากเกินไปก็อันตราย อาจโคม่า ความดันตก ไม่หายใจ อย่างไรก็ตาม รอให้มีการประชุมก่อนน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ก็มองว่าสารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่านั้น ทั้งโรคสมองเสื่อม อาการปวดรุนแรง ฯลฯ