xs
xsm
sm
md
lg

รพ.สวนสราญรมย์ใช้ “สุภาษิต” ฟื้นความจำผู้สูงอายุป่วยจิตเวช ชะลอสมองเสื่อม จำเพื่อน-สถานที่ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.สวนสราญรมย์ ใช้สุภาษิตคำพังเพย ทำกิจกรรมฝึกสมองผู้สูงอายุป่วยจิตเวช ฟื้นฟูความจำ ชะลออาการ “สมองเสื่อม” ช่วยผู้ป่วยจำเพื่อน จำสถานที่ได้ดีขึ้น ร่าเริงเข้ากลุ่มได้ดี เตรียมวิจัยขยายผลเป็นต้นแบบประเทศ แนะสังเกต 6 อาการโรคสมองเสื่อม

วันนี้ (21 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดนิทรรศการรณรงค์เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก (Alzheimer action day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ก.ย. ของทุกปี ว่า ประเทศไทยพบผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ประมาณ 500,000 คน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้ รพ.สวนสราญรมย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยี เร่งศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการการรักษาฟื้นฟูและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้ใกล้เคียงกับวิถึชีวิตผู้สูงอายุไทยมากที่สุด เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตดี อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า ทั้งนี้ รพ.สวนสราญรมย์ พบผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช ที่เสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อม หรือเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ เข้ารักษาในโรงพยาบาลปีประมาณ 200 คน โดย รพ. ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูความจำทุกวัน เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม มีทั้งหมด 12 กิจกรรม

“ที่น่าสนใจคือ มีการฝึกความจำด้วยคำพังเพย โดยนำเอาคำสุภาษิต คำพังเพย สอนลูกสอนหลานที่เป็นที่คุ้นเคย 5 คำพังเพย ได้แก่ เข็นครกขึ้นภูเขา มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ขิงก็ราข่าก็แรง จับปลา 2 มือ และน้ำขึ้นให้รีบตัก มาใช้ให้ผู้ป่วยสูงอายุทายความหมายจากภาพที่ใช้สีสันสวยงาม เพื่อเพิ่มพูนความจำ กำหนดเวลาให้ทายภาพคนละ 5 - 10 นาที ทำมาแล้วประมาณ 2 ปี เบื้องต้นพบว่า ได้ผลดี หลังจากทำกลุ่มรวม 12 ครั้ง พบว่า ผู้ป่วยสนุกสนาน ร่าเริง มีสัมพันธภาพกับคนอื่นดีขึ้น จำชื่อเพื่อนได้ดีขึ้น เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มดีขึ้น จำวันเวลาสถานที่ได้ดีขึ้น การคิดนึกของผู้ป่วยเร็วขึ้น ซึ่งจะให้ รพ.ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นโปรแกรมฟื้นฟูความจำ ชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม สำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชและไม่ป่วยอย่างจริงจังในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป เพื่อรับมือการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศ” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า โรคสมองเสื่อม สามารถชะลอการเกิดโรคได้ หากมีวิธีการป้องกันหรือกระตุ้นความจำได้อย่างถูกวิธี ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ส่งเสริมให้สถานดูแลผู้สูงอายุ เช่น เนิร์สเซอรี สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ตรวจคัดกรองโรคสมองเสื่อม ด้วยแบบคัดกรองดีเอสที (Dementia Sreening Test :DST) ที่กรมสุขภาพจิตพัฒนาขึ้น มีคำถามเพียง 4 ข้อ ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 4 นาทีก็รู้ผล หากพบว่ามีคะแนนต่ำแสดงว่าเข้าข่ายสงสัย ต้องส่งพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป 

นพ.จุมภฎ พรมสีดา ผอ.รพ.สวนสราญรมย์ กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมมักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ขอให้ลูกหลานสังเกตุอาการของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปจากเคยทำปกติทุกวัน โดยให้สังเกต 6 อาการที่มักพบในคนไทย ได้แก่ 1. ความจำระยะสั้นไม่ดี เช่นลืมวันนัด ถามซ้ำแล้วไม่รู้เรื่อง 2. การใช้ภาษาบกพร่อง เช่นเรียกชื่อลูกหลานไม่ได้ เรียกชื่อสิ่งของที่เคยใช้เป็นประจำไม่ได้ 3. สับสนทิศทาง ไปเส้นทางเดิมไม่ได้ 4. ทำงานที่มีความซับซ้อนไม่ได้ 5.อารมณ์แปรปรวน เช่นซึม เศร้าอย่างไม่มีสาเหตุ 6. บุคลิกเปลี่ยนไป เช่น อยู่ๆ ก็หัวเราะเสียงดัง โดยไม่มีเรื่องมากระตุ้น หากพบว่ามีอาการที่กล่าวมาแม้เพียงข้อเดียว ให้พาไปปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านได้




กำลังโหลดความคิดเห็น