เครือข่ายเยาวชนฯ จี้ พม. เร่งตรวจสอบ คลิปยุยง “เด็กชาย” ซดเหล้าจนหมดสภาพ หวั่นสร้างค่านิยมผิด ส่งเสริมเด็กดื่มเหล้าเบียร์ แถมละเมิด พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฯ
วันนี้ (9 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วย เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน แกนนำเยาวชนจากหลายสถาบัน จำนวน 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านทาง นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. เพื่อให้ตรวจสอบคลิปวิดีโอ เด็กชาย ถูกยุยงให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก นอนหมดสภาพ ซึ่งเป็นประเด็นถงเถียงถึงความไม่เหมาะสมในโลกออนไลน์
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า จากกรณีที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์ ว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “อาร์ม ฝูงบินต่ำ” ได้โพสต์คลิปวิดีโอแสดงพฤติกรรมเด็กผู้ชาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนหมดขวดพร้อมมีเสียงเชียร์สนับสนุนจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์ หวั่นสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้องและยุยงส่งเสริม อาจเข้าข่ายทำความผิดพ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 ที่ระบุว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความ ประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด และจำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา บุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ นอกจากนี้ มาตรา 27 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใดซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีให้เห็นเป็นวงกว้างในสังคม สะท้อนได้จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบพฤติกรรม การดื่มสุรา มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติดตัวอื่นที่ร้ายแรง การมีพฤติกรรมรุนแรงซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในกลุ่มเยาวชนซึ่งสร้างปัญหาสังคมต่อเนื่องอีกมาก ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกรมพินิจฯ ยังระบุว่า เยาวชนที่ทำผิดกฎหมาย มักมีพฤติกรรมดื่มเหล้ามากถึงร้อยละ 95.9
ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯ เห็นว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฯ และในฐานะที่รัฐมนตรี พม. เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เครือข่ายฯจึงมีข้อเสนอ เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1. ขอให้ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร และหากพบว่ามีความผิด ขอให้กระทรวงเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และกฎหมายอื่นเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตลอดจนการเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายด้วย 2. ขอให้เร่งประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพี่น้องประชาชนให้ยุติการส่งต่อหรือเผยแพร่คลิปหรือภาพเด็กในลักษณะดังกล่าว รวมถึงภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อความผิดตามกฎหมาย 3. ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ ป้องกันมิให้เด็กถูกคุกคาม ละเมิดสิทธิ ถูกยุยงส่งเสริมให้มีความเสี่ยง เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชน
ขณะที่ นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า พม. จะสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม และเตรียมประสานอย่างเร่งด่วนไปที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดมหาสารคาม (พมจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงบ้านพักเด็กและครอบครัว เข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้ ทั้งนี้ เรามี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฯ การที่จะไปยุยง ส่งเสริมให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่ดีนั้น มีความผิดชัดเจนอยู่แล้ว นอกจากนี้ การเผยแพร่คลิปลักษณะนี้ออกไป จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย