xs
xsm
sm
md
lg

หยุดทำร้ายคนในครอบครัว พบคนไม่สูบกว่า 34 ล้านคน รับควันบุหรี่มือสอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ผนึก พม. สสส. จัดเสวนา “หยุดทำร้ายครอบครัวด้วยบุหรี่” ชี้ คนไม่สูบบุหรี่กว่า 34 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสอง แถม 2 ใน 5 ของนักสูบ ยอมรับเคยสูบบุหรี่ในบ้าน สสส. เผย สิงห์อมควันเกือบทุกคนเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่มากกว่า 1 โรค วอน พ่อ แม่ ไม่สูบให้ลูกเห็น เพราะมีผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบสูบตาม วอนนักสูบเลิกสูบบุหรี่เลิกสูบก่อนที่จะสาย

วันนี้ (3 เม.ย.) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง “หยุดทำร้ายครอบครัวด้วยบุหรี่” เนื่องในโอกาสวันครอบครัว 14 เมษายน 2561 ที่กำลังจะมาถึง เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง

นางพรสม เปาปราโมทย์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมสำคัญ ซึ่งอยู่ในช่วงใกล้วันครอบครัว 14 เมษายน การให้ความใส่ใจด้วยการให้ความรัก การดูแลช่วยกันด้านเศรษฐกิจลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และช่วยกันดูแลเรื่องสุขภาพของคนในครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญ การไม่สูบบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ครอบครัวสามารถแสดงความรักต่อกันได้อย่างใกล้ชิด เพราะไม่มีกลิ่นบุหรี่ติดตัวและช่วยให้คนในครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง ที่ผ่านมา พบว่า 2 ใน 5 ของผู้สูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ในจำนวนนี้ร้อยละ 27.8 สูบบุหรี่ในบ้านทุกวัน เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่เฉลี่ย 565 บาทต่อเดือน หรือ 6,780 บาทต่อปี และจากการสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือน ปี 2560 พบว่า ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 12,759 ล้านบาทในไตรมาสสามของปี 2559 เพิ่มเป็น 13,536 ล้านบาท ในไตรมาสสามของปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จะเห็นได้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในครอบครัวตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรัก การไม่มีเงินออม มีหนี้สิน รวมทั้งการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการส่งเสริมให้คนในครอบครัวเลิกบุหรี่ โดยรับฟังข้อคิดเห็น ประสบการณ์ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการเลิกบุหรี่และช่วยให้คนที่เรารักเลิกบุหรี่ในเดือนแห่งครอบครัว ควันบุหรี่ทำให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัว โดยการสูดดมบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมา และควันบุหรี่ที่ลอยจากปลายมวนบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีบุหรี่มือสามที่เกิดจากอนุภาคละอองไอสารเคมีที่เป็นพิษจากควันบุหรี่ที่ตกค้าง เกาะติดอยู่ตามเส้นผม ผิวหนัง เสื้อผ้าของผู้สูบและวัสดุในบ้านที่สัมผัสผู้สูบ เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าม่าน พรม เบาะ หรือติดค้างตามช่องแอร์ ซึ่งจะคงอยู่ได้นานหลายชั่วโมงแม้ว่าควันบุหรี่จะจางหายไปนานแล้ว ซึ่งทารก เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดในการรับพิษที่ก่อมะเร็ง จากข้อมูลการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข และ สสส. พบว่า มีคนที่ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นสูงถึง ร้อยละ 72.6 หรือคิดเป็นประชากรจำนวนกว่า 34 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่

ดร.นพ. บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 แล้ว “การหยุดทำร้ายครอบครัวด้วยบุหรี่” และการส่งเสริมให้คนในครอบครัวเลิกบุหรี่มีสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะบุหรี่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบเองและคนในครอบครัวอย่างมาก จากการสำรวจโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ 8 คน และสมาชิก
ในครอบครัวผู้ที่สูบบุหรี่ 4 คน อายุระหว่าง 25 - 79 ปี ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสองแห่ง พบว่า มีผู้สูบ 5 คน ที่สูบวันละ 1 ซองหรือมากกว่า ผู้สูบบุหรี่และคนในครอบครัว มีโรคทางกายที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ 7 คน โดย 1 คน เป็นมากกว่า 1 โรค เช่น โรคทางเดินหายใจ 7 คน (ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภูมิแพ้ หอบหืด) มะเร็งรังไข่ 1 คน ความดันโลหิตสูง 2 คน และ ไขมันในเลือดสูง 2 คน นอกจากนี้ คนใกล้ชิด เช่น สามี ภรรยา บุตร บางคนก็มีโรคที่เกิดจากควันบุหรี่ เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (1 คน) เครียด เป็นทุกข์ที่คนในครอบครัวสูบบุหรี่จนเจ็บป่วย แต่ไม่ยอมเลิก (1 คน) ญาติผู้สูบทั้ง 4 คนรู้สึกเหม็น รำคาญ หายใจไม่สะดวก และ มี 1 คนที่ถึงกับทะเลาะกับผู้สูบเพราะการสูบบุหรี่

“ที่น่าเป็นห่วงมาก คือ การสูบบุหรี่มีผลต่อการเริ่มสูบบุหรี่ของคนในบ้าน คือ มี 1 ราย เริ่มสูบเพราะพ่อแม่ให้ทำยาเส้นให้ และอีกรายเริ่มสูบเพราะพ่อแม่ให้ลูกไปต่อบุหรี่กับไฟมาให้ และอีก 2 รายที่มีลูกสูบตามพ่อแม่ อย่างไรก็ตาม ผู้สูบบุหรี่ทุกคนทราบดีถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง จึงพยายามปกป้องครอบครัวและคนใกล้ชิดโดยการไม่สูบบุหรี่ในบ้านหรือที่สาธารณะ ในขณะที่ตนเองยังไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ จากข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และ พฤติกรรมการเลียนแบบการสูบบุหรี่ในครอบครัวด้วย จึงอยากเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ไม่สูบในบ้านหรือถ้าเลิกสูบได้เลยจะดีที่สุด” รอง ผจก. กองทุน สสส. กล่าว

ด้าน นางเอื้อง คำยัน อายุ 61 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า บิดาของตน ขณะที่มีชีวิตอยู่ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่และส่งผลกระทบกับแม่ที่ต้องทุกข์ทรมานด้วยอาการหอบหืดแล้วต่อมาล้มเจ็บด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเช่นกัน แม้ไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่ ตนได้เคยพยายามชักชวนให้เลิกแต่พ่อไม่ยอมเลิก ถึงแม้จะมีอาการหอบเหนื่อยจนไม่สามารถนอนได้ ก็ยังไม่หยุดสูบ ส่วนตนเองได้รับผลกระทบมาก คือ เมื่อได้กลิ่นบุหรี่จะเหม็นจนหายใจไม่สะดวก มึนศีรษะเหมือนจะอาเจียน ปัจจุบันตนเองป่วยด้วยโรคมะเร็งรังไข่ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลกระทบจากการได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย อยากวอนคนที่สูบบุหรี่ให้นึกถึงคนในครอบครัวและพยายามเลิกบุหรี่ให้ได้ โดยกล่าวว่า “คนที่สูบบุหรี่อย่ารอให้ตัวเองและคนที่รักต้องป่วยก่อนจึงจะเลิก มันจะสายเกินไป”








กำลังโหลดความคิดเห็น