กรมอนามัย ห่วงความเชื่อผิดๆ เลี้ยงทารกไม่ถึง 6 เดือนด้วยกล้วยบด ทำอาหารไม่ย่อย เหตุกระเพาะอาหารเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เสี่ยงเสียชีวิตจากลำไส้อุดตันได้ แนะควรกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ช่วยแข็งแรงเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค หลัง 6 เดือน ให้กินนมแม่คู่อาหารตามวัย
จากกรณีข่าวคุณยายชาวมาเลเซียเลี้ยงหลานอายุไม่เพียง 10 วัน โดยใช้กล้วยบด ไม่ยอมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปรากฏว่า เด็กเกิดถ่ายเป็นเลือดและกลิ่นเหม็นเน่า มีเลือดไหลออกมาตามปาก - จมูก - ทวารหนัก ก่อนเสียชีวิตจากภาวะอาหารไม่ย่อย โดยคุณยายกล่าวด้วยความเสียใจว่า เมื่อก่อนก็เลี้ยงลูกมาแบบนี้ ซึ่งเป็นแนวคิดของคนรุ่นเก่าในการเลี้ยงเด็กทารกด้วยน้ำส้มและกล้วยบด เป็นต้น
วันนี้ (3 เม.ย.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เป็นความเชื่อและการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการเสียชีวิตในทารกจากปัญหาเช่นนี้เป็นระยะๆ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูเด็ก ทั้งในพ่อแม่ที่ดูแลลูกด้วยตนเอง หรือในกลุ่มผู้เลี้ยงดูเด็กที่มิใช่พ่อแม่ อาทิ ปู่ย่าตายาย หรือพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อลบความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เนื่องจากธรรมชาติได้สร้างให้นมแม่ มีสารอาหารครบถ้วน มีน้ำมากเพียงพอ กินแล้วย่อยง่าย ที่สำคัญ ถูกสร้างมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของทารกที่มีระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่
“หากกินอาหารอื่นที่ไม่ใช่นมแม่เข้าไป อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติ เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหาร และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากลำไส้อุดตัน แต่เมื่ออายุ 6 เดือน เมื่อระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว จึงให้เริ่มกินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่นๆ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ โดยการเริ่มต้น ควรให้อาหารในปริมาณน้อยๆ และมีความเหลว เพื่อความง่ายในการฝึกกลืนและกระบวนการย่อย ช่วงเวลาในการให้อาหารเสริมชนิดใหม่ๆ ที่เด็กยังไม่เคยกิน ควรเป็นเวลาเช้าหรือกลางวัน ที่ผู้เลี้ยงดูสามารถสังเกตเห็นท่าทีของเด็กหลังการได้รับอาหารได้ใกล้ชิด เมื่อเด็กกินได้ดีในวันแรกๆ จึงเพิ่มปริมาณและความเข้มข้นของอาหารเสริมขึ้นช้าๆ” พญ.อัมพร กล่าว
พญ.อัมพร กล่าวว่า นมแม่ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูก มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นมแม่ในระยะ 1 - 7 วันแรก จะมียอดน้ำนมที่เรียกว่า หัวน้ำนม หรือ โคลอสตรัม ถือเป็นยอดอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน อีกทั้งเป็นช่วงที่น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด เด็กควรได้กินหัวน้ำนมเพราะเปรียบเสมือนได้รับวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพราะเด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ทารกที่ได้ดื่มนมแม่จึงมีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืดหูอักเสบเป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าทารกที่กินนมแม่มีการพัฒนาความสามารถทางสมองดีกว่าทารกที่ไม่กินนมแม่