โซเชียลแชร์เอกสารวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่กรมปศุสัตว์สั่งซื้อไม่ได้คุณภาพ อย. ชี้ เป็นเอกสารเก่าปี 60 ที่แจ้งปศุสัตว์ก่อนถอดทะเบียน ลั่นหากมีการนำวัคซีนถอนทะเบียนมาแจก ปชช. ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินคดี ตรวจสอบแหล่งที่มา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์รูปภาพวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและเอกสารคุณภาพของวัคซีน โดยระบุว่า เป็นวัคซีนที่กรมปสุสัตว์จัดซื้อมา แต่ความแรงของวัคซีนไม่เพียงพอ ไม่มีคุณภาพ และถูกเพิกถอนทะเบียน
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงเรื่องดังนี้ ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลตั้งแต่ พ.ค. 2560 ที่ อย. มีการส่งหนังสือถึง กรมปศุสัตว์ เพื่อแจ้งผลการตรวจประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ก่อนที่จะมีการถอดวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวออกจากทะเบียนยาใน มิ.ย. 2560
เมื่อถามถึงกรณีมีการระบุว่ามีการนำวัคซีนยี่ห้อที่ถูกถอดทะเบียนออกแล้วไปแจกจ่ายในกับประชาชนในพื้นที่ลำลูกกา จ.ปทุมธานี นพ.สุรโชค กล่าวว่า หากมีการนำวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวมาแจกจริง ขอให้นำวัคซีนดังกล่าวไปแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้เลย เพื่อที่จะได้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีและตรวจสอบแหล่งที่มาของวัคซีน อย่างไรก็ตาม อย. จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ได้มีการเชิญ อย. ไปให้ข้อมูลหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อมา แต่หากกรมปศุสัตว์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจาก อย. ทาง อย. ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกระแสการฉีดวัคซีนแบบก่อนสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ว่า วัคซีนที่ฉีดเป็นวัคซีนชนิดเดียวกับวัคซีนที่ฉีดหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ 1) คนที่ทำงานคลุกคลี สัมผัสดูแล รักษาสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตลอดเวลา อาทิ สัตวแพทย์และผู้ช่วยในคลินิกรักษาสัตว์ อาสาสมัครปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านที่ช่วยฉีดวัคซีนในสัตว์ เป็นต้น 2) ผู้ที่มีอาชีพเพาะเลี้ยง หรือเพาะพันธุ์สัตว์ จำพวก สุนัข แมว และสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เลี้ยงลูกด้วยนม 3) ผู้ที่มีอาชีพหาของป่าที่อาจมีอันตรายจากสัตว์ป่ากัด และ 4) นักทัศนาจรที่เดินทางจากเขตปลอดโรคแล้วเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดหรือโรคชุกชุม
“การฉีดวัคซีนป้องกันแบบก่อนสัมผัสโรคนั้นจะฉีดทั้งหมด 3 เข็มในระยะห่างตามที่กำหนด และถ้าหากมีการสัมผัสโรคหลังจากฉีดวัคซีน ก็จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกเพียง 1 หรือ 2 เข็ม โดยมิต้องฉีดเซรุ่มที่เรียกว่าอิมมูโนโกลบูลิน การฉีดวัคซีนป้องกันแบบก่อนสัมผัสโรค หรือ แบบล่วงหน้านั้น จึงเป็นการฉีดวัคซีนทางเลือกที่ผู้รับบริการฉีดวัคซีนต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไป” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนต่างให้ความสนใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรคจำนวนมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าประชาชนให้ความตระหนักในการป้องกันโรคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ข้อมูลว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับหรือไม่ได้รับวัคซีนป้องกันก่อนสัมผัสโรค ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน และหากถูกสุนัข แมวกัดหรือข่วน และมีแผลแม้เพียงเล็กน้อย ต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 10 นาที และใส่ยาโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) หลังล้างแผล เพื่อลดปริมาณเชื้อที่จะเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นรีบไป พบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปรับวัคซีนตามนัดทุกครั้ง ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดพิมพ์เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรคฉบับมาตรฐานแจกจ่ายไปยังสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนผู้มีประวัติเคยถูกกัด ข่วน ในช่วง 1 - 2 เดือน แต่ไม่ได้เข้าไปฉีดวัคซีน ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษารับการฉีดวัคซีนภายหลังสัมผัสโรค