ไทยเจ้าภาพจัดประชุมเอชไอวีนานาชาติ 17 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ระดมสมองแก้ปัญหาเยาวชนติดเชื้อเอชไอวี ห่วงเป็นพื้นที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และตายจากเอดส์สูงเป็นอันดับ 2
วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) นายเอมอน เมอร์ฟี ผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก และนายราตู เอมปาลี สมาชิกรัฐสภาและอดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิจิ ร่วมเปิดการประชุม Asia Pacific Youth Forum : Youth at the front of the HIV response จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ธ.ค. 2562 และศึกษาดูงานการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชน โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารแผนงานเอดส์ระดับประเทศ นายกเทศมนตรี ผู้นำเยาวชน ผู้ปฏิบัติงานด้านเยาวชนในองค์กรระหว่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวม 17 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ จีน มองโกเลีย เนปาล อินเดีย ปากีสถาน ติมอร์-เลสเต ปาปัวนิวกีนี เวียดนาม ศรีลังกา และไทย เข้าร่วม
นายสาธิต กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อเอชไอวีสูง โดยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ผู้มีเชื้อเอชไอวี (PLHIV) และผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ สูงเป็นอันดับสอง จึงก่อให้เกิดความท้าทายต่อการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia and the Pacific) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ นอกจากเพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลก ปี พ.ศ. 2562 ยังเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเน้นประเด็นการแก้ไขปัญหาเอชไอวีในกลุ่มเยาวชนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ประชุมจะได้มีการหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างเยาวชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาชนรวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชน เพื่อเร่งรัดด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์
สำหรับประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายหลัก 3 ประการในการยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี พ.ศ. 2573 คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ปีละไม่เกิน 1,000 ราย ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาวะลง ร้อยละ 90 โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินมาตรการที่สำคัญ คือ ขยายและจัดชุดบริการป้องกันแบบผสมผสาน พัฒนารูปแบบบริการใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เช่น Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) หรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาเสริมในชุดบริการ จัดระบบบริการให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการป้องกันและดูแลรักษา รวมทั้งเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกให้แก่สังคม ในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ