ในยุคดิจิทัลเราจำเป็นต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในแง่ของการศึกษาก็เช่นกัน โดยเฉพาะการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ ที่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกล จำเป็นที่ว่าที่คุณหมอยุคใหม่ก็ต้องก้าวตามให้ทัน
ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ คือ เครื่องอัลตราซาวนด์พกพาชนิดไร้สาย (Wireless) ที่สามารถพกติดตัวไปได้ทุกที่ ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วทันที เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นและรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมกับอาการมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลหลักที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เลือกตัดสินใจนำเครื่องดังกล่าวมาใช้ในการเรียนการสอน
“เครื่องอัลตราซาวนด์พกพาชนิดไร้สาย” สำหรับการเรียนการสอนนั้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอป เมนท์ จำกัด (มหาชน) นำโดย นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ นางนลินี รัตนาวะดี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิพลังงานไทย ได้มอบเครื่องดังกล่าวให้แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 200 เครื่อง มูลค่ารวมกว่า 12 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแก่นักศึกษาแพทย์ในการใช้เครื่องดังกล่าวเรียนรู้
นายสารัชถ์ กล่าวว่า หลังจากได้ฟังทาง รพ.รามาธิบดี นำเสนอเรื่องขอบริจาคเครื่องมือแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก จึงตอบรับทันที เพราะเรื่องการช่วยเหลือสังคม ทางกัลฟ์ฯ ก็ทำใน 2 ส่วนอยู่แล้ว คือ ด้านการศึกษา และด้านเครื่องมือแพทย์ ที่ผ่านมา เราก็มีการบริจาคเครื่องมือแพทย์ให้แก่ รพ.รัฐหลายแห่ง ซึ่งเครื่องอัลตราซาวนด์พกพาชนิดไร้สายนี้ ก็เป็นทั้งเรื่องของการศึกษาและเครื่องมือแพทย์ด้วย ถือว่ามีประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่จะได้รับเครื่องนี้ไปดูไปฝึก ทำให้มีความชำนาญตั้งแต่อายุยังน้อย และเกิดประโยชน์ต่อการรักษาคนไข้ห้องฉุกเฉินมีโอกาสมีชีวิตรอดมากขึ้น
“ผมเคยไปดูงานด้านไบโอเทคและเมดิเทคหลายแห่งในต่างประเทศ แนวโน้มก็พัฒนาไปสู่ในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น อย่างเรื่องของการเอกซเรย์และการทำเอ็มอาร์ไอ ก็มีการใช้เอไอมากขึ้น สามารถบอกความผิดปกติของร่างกายในส่วนอื่นนอกจากส่วนที่เราตั้งใจทำการสแกน และคอมพิวเตอร์ก็สามารถบอกข้อมูลเราได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่งอ่าน ดังนั้น จึงคิดว่า รพ.รามาธิบดี ค่อนข้างนำสถาบันอื่นๆ ที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเรียนการสอน” นายสารัชถ์ กล่าว
สำหรับคุณสมบัติของเครื่องอัลตราซาวนด์พกพาชนิดไร้สาย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งหัวใจ ช่องท้อง ช่องปอด หรือเวลามีภาวะฉุกเฉิน เครื่องมือจะสามารถตรวจให้เห็นภาวะเลือดคั่งในตำแหน่งต่างๆ หรือกรณีเกิดความผิดปกติของตัวอวัยวะภายใน หรือดูบริเวณคอให้เห็นไทรอยด์ เส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำขนาดใหญ่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาการทำอัลตราซาวนด์จะต้องใช้เครื่องที่มีขนาดใหญ่ แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้เครื่องมีขนาดเล็กลงจนสามารถพกพาได้ แล้วสามารถเชื่อมต่อภาพผ่านทางบลูทูธมาออกหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต จึงไม่ต้องใช้จอหรือเครื่องมือขนาดใหญ่อีกต่อไป ส่งผลให้มีประโยชน์อย่างมากในการใช้ตรวจวินิจฉัยเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ที่จะช่วยลดโอกาสผิดพลาดลงได้ งานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินจึงมีการนำเครื่องมือเช่นนี้มาใช้ แต่ต้องยอมรับว่า ความละเอียด หรือการดูแรงดันของเลือดต่างๆ อาจจะสู้เครื่องอัลตราซาวนด์ขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดคุณภาพดีขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ของเรามีโอกาสได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือที่ทันสมัย
“คณะจะเริ่มนำเครื่องมาใช้สอนทันทีในปีการศึกษานี้ โดยจัดสรรให้แก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2-3 มาใช้ประกอบการเรียนด้านปรีคลินิก โดยให้นักศึกษา 2 คนต่อ 1 เครื่อง เพื่อเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของกายวิภาคศาสตร์ สรีระสิทยา และพยาธิสภาพต่างๆ แต่สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 จะให้ใช้คนละเครื่อง เพื่อฝึกใช้และเรียนรู้ในการตรวจรักษาคนไข้และเรียนรู้ข้อบกพร่องของเครื่องมือ โอกาสที่จะใช้แล้ววินิจฉัยผิดพลาดต่างๆ ก่อนที่จะมีการออกไปใช้จริง ซึ่งอนาคตหากมีความจำเป็นก็สามารถหามาเพิ่มเติมได้ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จึงถือว่าเป็นแห่งแรกที่นำเครื่องมือนี้เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวและว่า ส่วนข้อกังวลว่า การตรวจขั้นพื้นฐานจะทำไม่ได้หากไม่มีเครื่องมือ ยืนยันว่า เรายังเน้นดูฟังเคาะคลำและการใช้สเตโทสโคป เพียงแต่เครื่องมือนี้จะเข้ามาเสริมให้มีความแม่นยำมากขึ้น
ด้าน รศ.นพ.สิทธิ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เมื่อก่อนการเรียนอัลตราซาวนด์จะเรียนในชั้นคลินิก คือ ปี 4-6 เพราะเครื่องอัลตราซาวนด์มีขนาดใหญ่ ทำให้นำมาสอนการใช้ลำบาก และต้องเรียนกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ช่วงหลังเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากเครื่องที่มีขนาดใหญ่โตและราคาแพง ก็มีขนาดเล็กลงที่สามารถพกพาได้ทำให้นำมาใช้ในระดับบุคคลได้มากขึ้น จึงนำมาใช้ในการสอนช่วงปรีคลินิก หรือชั้นปีที่ 2-3 ด้วย ทำให้นักศึกษาเข้าถึงการเรียนการสอนการใช้อัลตราซาวนด์ได้มากขึ้น และคาดหวังว่า เครื่องมือนี้จะกระตุ้นให้นักศึกษาอยากเรียนรู้มากกว่าเดิม และอยากจะไปหาความรู้เพิ่มเติมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอนาคต
สอดคล้องกับ รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า เครื่องอัลตราซาวนด์พกพาได้มีประโยชน์อย่างมากในการนำไปใช้วินิจฉัยผู้ป่วยตั้งแต่ที่เกิดเหตุ หรือบนรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำให้ตรวจวินิจฉัยและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้เห็นพยาธิสภาพความเป็นจริง กล้าวินิจฉัยตัดสินใจได้มากขึ้น หรืออาจเลือก รพ.ที่มีความเหมาะสมกับอาการหรือภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย เพราะหากไม่รู้และไปส่ง รพ.ที่ศักยภาพอาจไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ ก็ต้องเสียเวลาส่งต่ออีก เครื่องอัลตราซาวนด์พกพาจึงเป็นประโยชน์มากต่อบุคลากรฉุกเฉิน ในการเป็นดวงตาคู่ที่สองในการช่วยตรวจวินิจฉัย และการนำมาใช้ให้นักศึกษาเรียนนั้น เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้สถาบันการศึกษาอื่นนำมาใช้สอนหรือตรวจมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นศพ.พรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ครั้งแรกที่เห็นเครื่องนี้รู้สึกว่าล้ำสมัยมาก หลังจากทดลองใช้เครื่องนี้ 1 เดือนในแผนกฉุกเฉิน รู้สึกว่า ช่วยเรื่องความสะดวกสบาย มีรวดเร็วขึ้นในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งเมื่อก่อนหากรู้สึกว่า ต้องใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ในการตรวจ ก็ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปห้องอัลตราซาวนด์และรอคิวตรวจ แต่เครื่องนี้ช่วยให้อัลตราซาวนด์ได้เลยในห้องซักประวัติ หรือหากเกิดภาวะฉุกเฉินรอไม่ได้ เช่น ประสบอุบัติเหตุมาสงสัยว่าปอดรั่ว ปอดแตก มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ การวินิจฉัยได้เร็วจะส่งผลมากในการช่วยชีวิต การย่นระยะเวลาช่วยวินิจฉัยได้เร็ว นำไปสู่การักษาทำหัตถการช่วยได้ทันท่วงที ที่สำคัญ ช่วยฝึกฝนให้นักศึกษาใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ เพราะหากเป็นเครื่องขนาดใหญ่แบบสมัยก่อน นักศึกษาอาจไม่ค่อยได้ใช้ ทำให้เมื่อต้องไปใช้ทุนตามโรงพยาบาลต่างๆ อาจจะต้องลองใช้เองโดยที่ไม่มีผู้สอนหรือช่วยเหลือในการใช้ แต่เมื่อมีการเรียนรู้ผ่านเครื่องแบบพกพานี้ ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจและทักษะให้แก่นักศึกษาแพทย์มากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องพกพายังบันทึกภาพหรือคลิปลงในสมาร์ทโฟน เพื่อนำมาเรียกดูหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในภายหลังได้ด้วย ถือว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก