พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวในงาน Thai Health Innovation Dinner Dialogue จัดโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ PReMA ถึงแนวการสร้างระบบสาธารณสุขของไทยในอนาคตผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมามีส่วนช่วยขับเคลื่อน ว่า เป็นที่ทราบกันดีถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทยที่มีมายาวนาน และขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายนำ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้ามาแก้ปัญหา จะช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการดูแลจากโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ และในที่สุดจะสามารถดูแลโดยตรงถึงบ้านผู้ป่วย โดยแพทย์สามารถให้คำแนะนำผ่านวิดีโอแบบเรียลไทม์ และแม้แต่การขอใบสั่งยาจากแพทย์ได้และนำส่งยาถึงบ้านได้เลย ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแพทย์จะส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาต้องใช้เวลารอนานหลายชั่วโมง และแพทย์เองก็อาจมีความเสี่ยงที่จะตัดสินใจผิดพลาดเนื่องจากความเหนื่อยล้า
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งด่วนในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยร่วมมือกับสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้นำร่องในการใช้ Telemedicine เพื่อดูแลสุขภาพให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายขอบ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยใช้ชื่อว่าโครงการ “Telemedicine” ซึ่งเป็นการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายขอบในระยะเวลา 5 ปี เริ่มต้นใน 8 จังหวัด ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของวงการแพทย์แห่งอนาคต และเป็นปัจจัยสําคัญที่จะช่วยผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ ในการพัฒนาการแพทย์สู่อนาคต โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ ยังจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและแพทย์อย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ MRI และภาพที่ได้จากการสแกนต่างๆ จะเป็นข้อมูลมีขนาดใหญ่มาก และมักจะต้องส่งไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบวินิจฉัย ซึ่งการส่งไฟล์ขนาดใหญ่อาจใช้เวลานาน หรือในบางครั้งไม่สามารถส่งได้สำเร็จ ทำให้ผู้ป่วยจะต้องรอการรักษานานขึ้น เมื่อมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาส่งผลให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้การรับส่งข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่รวดเร็วและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ช่วยแก้ไขปรับปรุงเรื่องการเข้าถึงและคุณภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ จะทำให้ทั้งผู้ป่วยและแพทย์สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับข้อมูลตามที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์ และแพทย์จะสามารถให้การดูแลรักษาตามความต้องการและความคาดหวังของผู้ป่วยได้
จากการศึกษาของ Market Research Future ระบุว่า แนวคิดของรัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลก มองไปทิศทางเดียวกันคือการใช้ Telemedicine ในพื้นที่ชนบทมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการดูแลสุขภาพ แน่นอนว่า 5G ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์หลายประเภท แต่ที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายและสะดวกคือ การใช้เครือข่าย IoT (Internet of Things) ที่สามารถติดตามอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดได้ เช่น การวัดชีพจร อุปกรณ์วัดความดัน อุปกรณ์วัดวิเคราะห์ผลเลือด เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ IoT ยังทำให้ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพสามารถทำการมอนิเตอร์ เพื่อตรวจสอบติดตามอาการผู้ป่วยและรวบรวมข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการดูแลส่วนบุคคลและการป้องกันได้
อีกเทคโนโลยีที่อยากจะพูดถึง คือ Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) จะถูกนำมาใช้ในการบริการสาธารณสุขด้วยการสื่อสารเสมือนจริงที่คล้ายกับแพทย์และผู้ป่วยนั่งอยู่ด้วยกัน ทั้งๆ ที่อยู่ห่างกัน โดยเทคโนโลยี 5G จะทำให้ AR, VR และการประมวลผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังอาจเพิ่มความสามารถของแพทย์ในการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ได้ โดย 5G จะทำให้เหมือนมีห้องแล็บการแพทย์บนมือผู้ป่วยและบนมือแพทย์ที่เชื่อมโยงกัน ผ่านระบบ AR, VR จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้ผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็นอีกต่อไป
สุดท้าย เทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบสาธารณสุขทั่วโลกเริ่มนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยและตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย AI สามารถช่วยคาดการณ์ว่าผู้ป่วยรายใดมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ซึ่งในยุค 5G จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านการแพทย์ได้ทั่วโลก และมีการประมวลผลได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการแพทย์ทั่วโลก จนสามารถค้นพบคำตอบในการรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่เคยสามารถตอบได้ในอดีตได้อย่างรวดเร็วด้วย AI และทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ ด้านสถาบันทางการแพทย์ ก็ให้ความสำคัญเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับวงการแพทย์ด้วยเช่นกัน เพราะอนาคตแพทย์ผู้ทำการรักษาหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการปรับตัว ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมวงการแพทย์ การวินิจฉัยบางโรคอาจไม่ต้องถึงมือแพทย์จริงๆ เพราะจะวินิจฉัยได้ด้วย AI พร้อมกับสั่งยา แนวทางการรักษาได้ทันที ซึ่งแพทย์อาจจะต้องปรับบทบาทเป็น Data science มากขึ้น โดยเทรนเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทางการแพทย์ ทางสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ปัจจุบันก็ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ทราบว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในเรื่องความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยพัฒนาวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าสถาบันทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะก้าวเข้ามาทำให้การแพทย์พลิกโฉมเป็นการแพทย์แห่งอนาคต
สำหรับโครงการ “Telemedicine” เป็นความร่วมมือระหว่าง กสทช. กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดให้มีสัญญาณมือถือและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล 3,920 หมู่บ้าน หรือเน็ตชายขอบ และในพื้นที่โครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐใน 15,372 หมู่บ้าน เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ชนบท และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสื่อสารมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้คำปรึกษา รักษาสุขภาพเบื้องต้นของประชาชนในพื้นที่ชนบท โดยประชาชนไม่ต้องเดินทางมารักษาสุขภาพในโรงพยาบาลประจำจังหวัด (Provincial hospital) แต่สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) (The Tambon health promoting hospital) คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ได้ โดยในเบื้องต้นจะให้คำปรึกษาและรักษาเบื้องต้นใน 4 โรค คือ ความดัน เบาหวาน ตา และผิวหนัง โดยในช่วง 6 เดือนแรกนำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยมี รพ.สต.นำร่อง 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลจังหวัด 8 แห่ง และในอนาคตเมื่อผลประสบความสำเร็จ ก็จะขยายไปยัง รพ.สต.ทั่วประเทศ
ในการจะผลักดันโครงการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จได้นั้น บุคลากรทางด้านการแพทย์จะต้องมีความตระหนักรู้และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีภารกิจที่สำคัญในดูแลประชาชนในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัย โดยภาครัฐเองจะต้องยกระดับการบริการประชาชนให้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอย และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่เขตสุขภาพ จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป เพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.) เป็นการจัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลอย่างทั่วถึง รวมทั้งการพัฒนาห้องฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ และกําลังคนที่เพียงพอ
อีกทั้งการพัฒนาและยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน ให้เป็นหมอประจําบ้านในการดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ เข้าถึงข้อมูลและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางไปพบแพทย์ และสิ่งสำคัญคือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ได้แก่ Telemedicine, ระบบคิว, ระบบงานบริการของโรงพยาบาล, ระบบส่งต่อผู้ป่วย, ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการสุขภาพให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อใช้ประโยชน์จาก Big Data ในการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สุดท้าย ต้องมีการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทั้งด้านระบบบริการทางการแพทย์ การสร้างเสริมสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การศึกษาวิจัย การผลิตและพัฒนากําลังคนด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสุขภาพที่ทันสมัย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ของประชาชน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย (Asia Medical Hub) ในอนาคต