xs
xsm
sm
md
lg

สวยติดไซเรน!! “ดารานางฟ้ากู้ภัย” ทำคลอด-เก็บศพ-ยื้อชีวิต [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
เปิดไซเรนพร้อมลุยช่วยผู้บาดเจ็บ! นักแสดงสาวลูกครึ่งอินเดีย ผันตัวมาทำงานอาสากู้ภัยกว่า 2 ปี ทั้ง เก็บศพ-ทำแผล-กู้ชีพ ล่าสุดได้ประกาศนียบัตรจาก สพฉ. เป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นเต็มตัว! เจ้าตัวเปิดใจ ขอบคุณงานกู้ภัย” ที่ทำให้เห็นคุณค่าการมีชีวิต แถมยังบริจาคร่างกาย-ดวงตา-อวัยวะ ไม่สนความเชื่อ ชาติหน้าเกิดมาไม่สมบูรณ์!



งานหลักนักแสดง งานพาร์ตไทม์คืออาสากู้ภัย!

“เกรซเป็นคนที่เจออุบัติเหตุซึ่งๆ หน้าบ่อยมาก เราอยากจะช่วยแต่ทำไม่เป็น ช่วยไม่ได้ ครั้งหนึ่งไปช่วยห้ามเลือด ไม่ได้คำนึงถึงว่าผ้าจะสะอาดไหม จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่มา เขาก็ว่าเราว่าผ้ามันไม่สะอาดนะ การช่วยเหลือคนมันกลายเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเราจำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเข้าไปช่วยได้เลย”

“เกรซ - พัชร์สิตา อธิอนันตศักดิ์” นักแสดงสาวลูกครึ่งอินเดียจากช่อง 7 ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เปิดใจเล่าถึงประสบการณ์การเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ในตอนที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อาสากู้ชีพเต็มตัว เธอเล่าว่าจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้จุดประกายให้เธออยากเรียนรู้เกี่ยวกับการกู้ภัยอย่างจริงจังมากขึ้น

“ตอนนี้ทำมาน่าจะสองปีได้แล้วค่ะ จริงๆ แล้วเริ่มตั้งแต่งานพระบรมศพของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ใจเกรซอยากทำมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิไหน แต่เราก็ไม่รู้ว่าช่องทางในการทำว่าต้องไปผ่านใคร ติดต่อใคร เดินเข้าไปไม่รู้จักใครเลย จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่งได้ถ่ายละครกับ “พี่อู๊ด” ก็ได้ยินเขาโทรศัพท์กับใครสักคน

เขาบอกว่าจะไปทำงานอาสาก็เลยลองปรึกษาแกดู (เขาบอก) เดี๋ยวพี่ดูให้ เป็นเหมือนจุดแรก และได้ถามถึงขอบข่ายของงานด้านจิตอาสาว่ามีอะไรบ้างก็เลยได้เข้ามาทำ ได้เริ่มงานแรกก็คืองานของรัชกาลที่ ๙ เลย

หลังจากนั้นก็จริงจังมากขึ้นค่ะ มีการออก ว.4เขต เหมือนเป็นการสแตนด์บายการปฏิบัติงานทางด้านอุบัติเหตุ ทางด้านฉุกเฉิน เขาจะมีอาสาสมัครที่ขึ้นตรงกับ สน. ต่างๆ บังเอิญว่าคนที่พี่อู๊ดแนะนำให้รู้จัก เขาชื่อ “พี่กุ้ง” อยู่ สน.ลุมพินี เราก็เลยได้ไปออก ว.4 เขตกับเขา


 
ต้องรอสแตนด์บายว่ามีอุบัติเหตุไหม หรือมีผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ใครก็ตามแต่ขอความช่วยเหลือผ่านเข้ามา เราเป็นเหมือนกลุ่มคนแรกที่จะเข้าไปถึงตัวพวกเขาได้เร็วกว่าหมอหรือพยาบาลจะมาถึง อย่างน้อยๆ เราประเมินสถานการณ์เบื้องต้นก่อนได้”

แน่นอนว่าการมาทำงานด้านกู้ภัยคงไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้ โดยจะต้องมีความพร้อมทั้งสภาพร่ายกายและจิตใจ ซึ่งหากถามว่าเธอเป็นคนที่กลัวเลือดหรือกลัวการเห็นบาดแผลจากอุบัติเหตุหรือไม่ เธอตอบว่าเป็นเพียงครั้งแรก เท่านั้น อีกทั้งที่บ้านก็ยังคงเป็นห่วงเมื่อรู้ว่าเธอทำงานเป็นอาสากู้ภัย

“ที่บ้านเป็นห่วงค่ะ เกรซเข้าใจว่าเป็นห่วงแหละ เหมือนเรากลับบ้านดึก ปกติไม่ได้กลับบ้านดึก ถ้าไม่ได้ทำงานถ่ายละคร มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ บอกแม่ว่าไปทำกับป่อเต็กตึ๊งนะ ไปออกจิตอาสา เขาก็มองว่ามันคืองานอะไร ทำไมต้องกลับดึกขนาดนี้

เขาก็คงเกิดคำถาม เกรซก็แก้ไขปัญหานี้ด้วยการให้คุณแม่ไปเห็นเองเลยว่างานของเราคืออะไร เราทำอะไรบ้าง เราได้ช่วยคนยังไง เราชอบที่จะทำงานนี้ยังไง
ตอนหลังคุณแม่ก็โอเค ก็หายห่วงแล้ว ส่วนเรื่องเงิน ไม่ได้นะคะ เราชอบด้วยใจจริงๆ ไม่ได้ว่ามีรายได้มาจากทางไหนเลย ไม่เหมือนกับเจ้าหน้าที่ประจำที่มีเงินเดือนอยู่แล้ว

แต่ถามว่ากลัวเลือดไหม เกรซกลัวในครั้งแรก ครั้งที่ 2-3 แค่นั้น ที่ผ่านมาเคยเจอ เรานั่งรถผ่านก็มองบ้าง เหมือนกับเรายังอยู่ในเซฟโซนของตัวเองก็เห็นจากไกลๆ แต่อันนี้คือซึ่งๆ หน้า แล้วเป็นซึ่งหน้าที่เราต้องหยุดมันให้ได้ ต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ก็กลัวในไม่กี่ครั้งแรกๆ ที่ทำ

ซึ่งความยากของงานกู้ภัย เกรซมองว่าคือการควบคุมสถานการณ์ยังไงมากกว่า สถานการณ์ในที่นี้คือรวมไปถึงว่าตัวเราเองจะปลอดภัยไหม กับการที่เราลงไปช่วยตรงนั้น และมีสถานการณ์ที่เราต้องคุมญาติ หรือคนที่ประสบอุบัติเหตุด้วยกัน เราต้องคุมให้อยู่”


 
ประสบการณ์ช่วย “ทำคลอด” ครั้งแรกในชีวิต!

“ตอนที่มองแวบแรก เกรซยังไม่รู้ว่าเป็นคนท้อง คือดูไม่ออกเพราะเขาใส่ผ้าถุงมา สามีเป็นคนเข็นรถ แม่ก็ปวดท้องมากแล้วตะโกนออกมาว่าไม่ไหวแล้ว ออกแล้วๆ ทุกคนก็ตกใจว่าจะออกแล้วจริงไหม ระหว่างนั้นภาพที่ทุกคนเห็นคือแม่กำลังจะคลอดน้องออกมา”

นี่คือประสบการณ์ช่วยทำคลอดครั้งแรกในชีวิตที่เธอเจอกับตัวอย่างไม่คาดฝัน หลังจากเดินทางไปท่องเที่ยวที่ สปป.ลาว และได้ลงพื้นที่เป็นอาสากู้ภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่นั่น แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นระหว่างที่ทีมกู้ภัยของเธอนำผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุไปส่งโรงพยาบาล และกำลังจะเดินทางกลับ

“เหตุเกิดขึ้นที่ประเทศลาวค่ะ ตั้งใจว่าจะไปเที่ยว และไปออก ว.4เขตด้วยกันกับ สปป.ลาวด้วย ตอนนั้นกำลังเตรียมทำกระทงเพื่อไปงานลอยกระทง มีน้องมาบอกว่ามีเคสนะ ไปไหม แต่ตอนนั้นชุดเกรซไม่พร้อม ใส่เสื้อยืด กางเกงธรรมดา รองเท้าคัตชู

เราก็กลัวว่าถ้ามีภาพออกมาจะดูไม่ดีไหม พอเขาบอกว่าคนขาด แค่นั้นแหละขึ้นรถไปกับเขาเลย ครั้งนั้นที่ไปทำเป็นอุบัติเหตุทั่วไป เรานำคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลแล้ว บังเอิญว่าระหว่างทางที่ออกจากห้องฉุกเฉิน กำลังล้างไม้ล้างมือ ขึ้นรถกลับ ก็มีน้องกู้ภัยลาวไปช่วยเข็นรถเข็นคันหนึ่งมา

ตอนนั้นที่มองแวบแรก เกรซยังไม่รู้ว่าเป็นคนท้อง คือดูไม่ออกเพราะเขาใส่ผ้าถุงมา สามีเขาเป็นคนเข็น เกรซนึกว่าอาจขาเจ็บ พี่กุ้งบอกว่าเขาท้องก็เลยเข้าไปดู สีหน้าเขาก็ไม่ค่อยดีแล้ว เลยบอกน้องว่าจอดรถก่อนไปเอาเตียงให้เขานอนบนเตียงแล้วเข็นไปดีกว่า

น้องเขาก็ช่วยเข็นจะพาไปอีกที่หนึ่ง แต่ไม่ทันแล้ว ระหว่างที่เขาเอาเตียงมาจะย้ายจากรถเข็นไปเตียง แม่เขาก็ปวดท้องมาก แล้วตะโกนออกมาว่าไม่ไหวแล้ว ออกแล้วๆ ทุกคนก็ตกใจว่าจะออกแล้วจริงไหม ระหว่างนั้นภาพที่ทุกคนเห็นคือแม่กำลังอ้าขาออก

เราก็ทำยังไงดี จะออกจริงเหรอ มีคนโยนถุงมือให้เกรซบอกทำเลย เป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว ตอนนั้นคือมีเราเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เป็นอาสา เป็นเจ้าหน้าที่ นอกนั้นก็เป็นประชาชนทั่วไป เขาก็ออกเลยตรงนั้น เกรซก็รีบใส่ถุงมือแล้วเข้าไปช่วย จริงๆ ศีรษะน้องออกมาแล้ว


 
แต่ช่วงที่เกรซยังใส่ถุงมือไม่เสร็จ ตรงนี้ต้องยอมรับว่าพ่อเขามีสติมาก เขาวิ่งมารับศีรษะทัน เราบอกว่าจับไว้ก่อนๆ แค่ไม่กี่วินาทีใส่ถุงมือเสร็จแล้วไปประคองแทน มีช่วงที่น้องยังออกไม่ได้ก็ต้องหมุน ขยับ กดท้องนิดหนึ่ง จนออกมาทั้งหมด แล้วได้ยินเสียงร้องไห้ตั้งแต่แค่ศีรษะโผล่ออกมาแล้ว

ตอนนั้นรู้สึกว่ามันดีตรงนี้ที่ว่าเราช่วยแล้วเขาออกมาครบ 32 และแข็งแรงแน่นอนดูจากเสียงร้องไห้ แต่ก็คิดนะคะว่าถ้าเราช่วยน้องออกมาแล้วน้องไม่ร้องไห้ ไม่ตอบสนอง จะเป็นปัญหากับเราแล้ว เพราะเป็นคนช่วยทำคลอด”

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่เธอทำงานด้านกู้ภัยทำให้เธอมีความรู้ที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นการช่วยทำคลอด เธอบอกว่านี้คือหนึ่งในเนื้อหาที่เธอได้เรียนจนจบหลักสูตร แม้ว่าการฝึกช่วยทำคลอดที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากการทดลองกับหุ่นก็ตาม

“จริงๆ คือเป็น EMR (นักปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น) ที่เรียนครบแล้ว เรื่องทำคลอดก็สอนแล้ว แต่ทำคลอดในที่นี้จะใช้คำว่าช่วยทำคลอดมากกว่า เพราะกรณีการทำคลอดต้องมีการผ่าท้องด้วย อันนี้เหมือนช่วยทำคลอดมากกว่า

ตื่นเต้นนะคะ ที่เรียนเราเรียนกับหุ่น เป็นหุ่นทำคลอดน่ารักมากเลย(ยิ้ม) เป็นหุ่นมีแค่ขาครึ่งท่อนถึงสะดือ และท้องกลมๆ มีช่องคลอด เอาเด็กใส่ข้างบนได้ ตอนเรียนครูก็ค่อยๆ ดันเด็กจากข้างบนออกมา แล้วคลุมผ้าเขียวไว้ เราก็ก้มเข้าไปดู คุณแม่เบ่งค่ะๆ มันเรียนกับหุ่นแล้วเป็นสถานการณ์ที่ขำๆ น่ารักๆ

เราเรียนแม้แต่กระทั่งว่าห่อเด็ก ห่อด้วยผ้ายังไง ดูแลคุณแม่หลังคลอดยังไง คลอดออกมาแล้วภายในกี่นาทีรกจะคลอดตาม สายสะดือวัดถึงแค่กี่ ซม. ต้องหนีบสายสะดือไว้ เราไม่ได้มีหน้าที่ในการตัดสายสะดือ เราทำได้แค่หนีบเอาไว้ เกรซก็เรียนมาครบแล้ว แต่เรียนกับหุ่น

พอมาเจอจริงๆ เรารู้สึกว่าดีใจนะที่ทำได้ ก็นึกว่าตัวเองจะมือไม้สั่นจนทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนั้นก็บอกว่าเก่งมาก(ยิ้ม) ภูมิใจที่เราควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่กระโตกกระตาก และน้องก็ออกมาอย่างปลอดภัย”


 
“คนไทย” กับการ CPR ยังเป็นสิ่งไกลตัว!

“คนไทยเรายังติดกระแสอยู่ ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องซีเรียสขนาดนั้น มีกลุ่มคนอีกหลายๆ คนมองว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็เอาไปโรงพยาบาล หรือโทรเรียก 1669 สิ เพราะเขาไม่ได้มีความรู้แบบ 100% เขาก็จะไม่รู้ว่าภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่นาที เราสามารถชุบชีวิตคนขึ้นมาได้”

น้ำเสียงหนักแน่นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงจังเกี่ยวกับการทำ CPR หรือการช่วยฟื้นคืนชีพในสังคมไทย เธอมองว่าคนไทยยังคิดว่าการ CPR เป็นเรื่องที่ไกลตัว อีกทั้งเธอยังอยากให้สอดแทรกเรื่องนี้ไว้ในวิชาใดวิชาหนึ่งในโรงเรียนอีกด้วย

“คนไทยเรายังติดกระแสอยู่ ช่วงนั้นที่มีนักร้องท่านหนึ่งเสียชีวิตบนเวที เป็นกระแสหนักมาก คนก็ไปเรียน ไปหาความรู้มากขึ้นเรื่องการทำ CPR หน่วยงานบริษัท ออฟฟิศต่างๆ ก็สนใจที่จะให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถด้านนี้มากขึ้น

แต่ก็เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่เป็นกระแสมากจริงๆ ต่อให้สื่อกี่สื่อ มูลนิธิกี่มูลนิธิผลิตสื่อออกมาเพื่อสอนคนทางด้านการช่วยชีวิตเบื้องต้น การกู้ชีพให้เขาฟื้นคืนชีพขึ้นมา เกรซก็ว่าทำให้ตายยังไงมันก็ยังน้อยต่อการตอบสนองอยู่ดี

เพราะคนไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องซีเรียสขนาดนั้นก็ยังมีกลุ่มคนอีกหลายๆ คนมองว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาก็เอาไปส่งโรงพยาบาล ก็โทรเรียกอาสาสิ 1669 ไง คนยังมองแบบนี้มากกว่า พอเขาไม่ได้มีความรู้ 100% แบบที่เรามี เขาก็จะไม่รู้ว่าภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่นาที แค่ 2-3 นาที เราสามารถชุบชีวิตคนขึ้นมาได้

จาก 2 มือของเรา คนไม่รู้ เกรซมองว่าเขาไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งแบบที่เราเข้าใจมากกว่าเลยทำให้ตอนนี้ ความรู้ที่ประชาชนมีก็ยังไม่ถึง จริงๆ เกรซว่ามันจะเข้าถึงได้ง่ายมาก ถ้าเราสอดแทรกตรงนี้เข้าไปในวิชาใดวิชาหนึ่ง ตั้งแต่ที่เด็กเรียนอยู่ อย่างน้อยๆ ชั้น ม.ต้น ก็ทำเป็น มีความสามารถที่จะทำได้แล้ว”


 
สำหรับงานด้านกู้ภัยเธอเล่าว่ามีสอนตั้งแต่การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไปจนถึงการทำ CPR และ AED แม้ว่างานอาสาที่ทำจะไม่ได้รายได้ก็ตาม แต่เธอยอมรับว่าเป็นงานที่เธอชอบ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง

“จริงๆ แล้วก็สอนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นเบสิกที่ทุกคนต้องเรียนค่ะ การทำแผล การห้ามเลือดในเบื้องต้น การทำ CPR หรือเครื่อง AED หลังจากนั้นก็เหมือนเกรซชอบ คิดว่าเราคงมาทางนี้แน่เลย คือก็ไม่ได้เงินนะ

แต่รู้สึกชอบมากว่าเราช่วยชีวิตคนได้หนึ่งครั้ง แล้วรู้สึกภูมิใจ หรือแม้กระทั่งว่าเขาเสียชีวิตแล้ว อย่างน้อยเราได้ส่งเขาถึงที่ในครั้งสุดท้าย อย่างเคสแรกก็เอาผ้าคลุมให้เขา เปิดพัดลมให้ด้วย เราพยายามทำให้ดีที่สุดก่อนที่เขาจะขึ้นสวรรค์

ส่วนเรื่องการแบ่งเวลาไปทำ จริงๆ แล้วอาสาคือไม่มีใครบังคับเลยค่ะ มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเงินเดือนอยู่แล้ว เป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องสแตนด์บายออกงานอยู่แล้ว อย่างที่บอกไม่มีใครบังคับ มันเป็นงานจิตอาสา ขึ้นอยู่กับว่าเราว่าจะไปเมื่อไหร่ ถ้าเป็นช่วงแรกๆ ก็ยอมรับ ไม่รู้ว่าตัวเองว่างอะไรเหมือนกัน (หัวเราะ) ไปบ่อยมากค่ะ

อาทิตย์หนึ่งไป 3-4 วัน แต่ช่วงนี้ค่อนข้างงานยุ่งก็เลยทำให้มีเวลาน้อยลง แต่ก็ยังไปอยู่ค่ะ ส่วนมากจะไปช่วงเย็นจนถึงกลางคืนมากกว่า งานนี้ก็น่าจะทำเรื่อยๆ ค่ะ มันไม่ได้มีจุดที่ว่าเป็นงานที่เบื่อ มันไม่ใช่งานหลักของเรา มันไม่ใช่อาชีพ มันเป็นงานด้านจิตอาสา

เราก็ยังคิดว่าอยากเรียนให้สูงกว่านี้ ตอนนี้ไปลงทะเบียนไว้ เรียน EMT-B เป็นขั้นกว่าที่เราได้รับมา ถ้าจบแล้วก็ใส่ชุดสีขาว แล้ว EMT-B เป็นทางเลือกหนึ่งที่อนาคต ถ้าเราไม่ได้ทำงานด้านวงการบันเทิง มันก็เป็นวิชาชีพติดตัวเราไปได้ เป็นสิ่งที่เราเลือก และเป็นสิ่งที่เราชอบ”

เพราะ “ความตาย” ทำให้เข้าใจ “ทุกชีวิตมีค่า”

“ต้องบอกว่าเห็นชัดขึ้นนะคะ การที่เราได้ช่วยชีวิตเขา เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าทุกชีวิตมีค่า แต่เกรซมองว่าเห็นชัดขึ้นตอนที่ไปทำงานอาจารย์ใหญ่นี่แหละ เราได้เห็นร่างของผู้อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษา เราก็เลยรู้สึกว่าชีวิตมันยิ่งมีค่าขึ้นไปอีก ในทุกวันนี้ก็ยังต้องการร่างเพื่อมาเป็นสื่อการเรียนการสอน”

เพราะความตายทำให้เห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ หากแต่ความหมายของชีวิตจะมีคุณค่าได้มหาศาลเพียงใด คงอยู่ที่ว่าจะหนึ่งชีวิตนั้นได้สร้างประโยชน์อย่างไรบ้างในขณะที่มีลมหายใจอยู่ หรือกระทั่งการลาจากโลกนี้ไปแล้ว

แม้ก่อนหน้านี้จะเข้าใจคุณค่าของชีวิต แต่ต้องยอมรับว่าการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานกู้ภัยทำให้เธอเห็นภาพชัดขึ้น โดยเฉพาะกับงานอาจารย์ใหญ่ที่เธอมีโอกาสได้ช่วยบรรจุและเคลื่อนย้ายไปเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ทำการศึกษา

“เพราะยังขาดแคลนอยู่ โดยเฉพาะต่างจังหวัดยังขาดแคลนมาก ตอนนั้นพอได้มาช่วยเขาบรรจุอาจารย์ใหญ่ใส่ถุงซิปล็อกลงจากโลง ได้ช่วยยกโลงไปส่งที่วัด ยกโลงขึ้นรถตู้ มันทำให้จุดหนึ่งเกรซคิดว่าชีวิตมีค่ากว่าการได้อยู่เพื่อกิน ได้ลืมตา ได้อยู่กับคนที่เรารัก ได้อยู่เพื่อใช้ชีวิต


 
แต่บางทีชีวิตมันอาจทำได้มากกว่านั้น เกรซก็เลยกลับมามองย้อนดูตัวเองแล้วคิดว่าเราควรบริจาคร่างกายดีไหม แต่การบริจาคร่างกายเขาก็มีกฎเกณฑ์ มีวิธีการเช็กสุขภาพ มีบริจาคอวัยวะ และบริจาคดวงตา เป็น 3 อย่างนี้แยกกัน

ตอนนั้นใช้เวลาคิดประมาณครึ่งชั่วโมงได้นะคะ แล้วตัดสินใจเข้าแอปฯ สมัครเลย โดยที่ไม่ได้ถามใครที่บ้านเลย ก็ครบทุกอันแล้วค่ะ ร่างกาย ดวงตา และอวัยวะ

เพราะเราก็มีโอกาสได้เห็นว่านักศึกษาแพทย์ เขาตั้งใจจริงๆ ที่จะต้องเรียน แล้วคนพวกนี้คือหนึ่งในบุคคลที่จะช่วยชีวิตใครอีกหลายๆ คนในอนาคต ฉะนั้น การได้มาทำงานตรงนี้ ทำให้เราเห็นค่าของชีวิตมากขึ้นกว่าที่เราเคยเห็น”

คงต้องยอมรับว่าอีกหนึ่งความเชื่อที่ถูกบอกกล่าวกันมายาวนานเกี่ยวกับการบริจาคร่างกาย หรือกระทั่งอวัยวะแก่โรงพยาบาล อาจทำให้ในชาติภพหน้าเกิดมาไม่มีร่างกายที่สมบูรณ์ เธอตอบคำถามเรื่องนี้ว่าอยู่ที่ความเชื่อ ซึ่งเธอเองมองว่าพระเจ้าคงไม่ใจร้ายกับคนที่ทำบุญกุศลในวาระสุดท้ายของชีวิตแน่นอน

“น่าจะเป็นความเชื่อมากกว่าค่ะ เป็นเหมือนนิทานหลอกเด็ก ตอนนั้นเราหาข้อมูลว่าเราบริจาคได้ที่ไหนบ้าง เงื่อนไขเป็นยังไงบ้าง ไปเจอกระทู้พันทิปที่ตั้งเรื่องนี้ขึ้นมาว่า “ถ้าบริจาคร่างกาย อนาคตชาติหน้าเกิดมาจะไม่ครบ 32” เกรซก็ยังไม่คิดเรื่องนั้นในตอนนั้น แต่ทำเรื่องบริจาคไปแล้วแหละ

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานอาจารย์ใหญ่ว่า อาจารย์คะ หนูไปเจอกระทู้พันทิปมานะคะ เขาบอกว่าบริจาคร่างกายแล้วจะไม่ครบ 32 อาจารย์บอกว่ามันเป็นความเชื่อ มันอยู่ที่ใจ

เหมือนที่เธอทำงานจิตอาสา เธอก็รู้ว่าชีวิตก็อยู่บนความเสี่ยงเหมือนกันนะ การที่เราลงไปช่วยคนตามท้องถนน เขาถึงได้บอกให้เธอรู้จักประเมินก่อนที่เธอจะลงจากรถแล้วว่า ตัวเธอปลอดภัยไหม ด้วยการใส่ถุงมือ ใส่หน้ากาก ลงไปจากรถรอบข้างเธอปลอดภัยไหม มีรถมากั้นอุบัติเหตุปิดหน้า ปิดหลังไหม

มีสัญญาณไฟไหม มีคนมากพอไหม ถ้าอยู่คนเดียวเธอจะลงไปช่วยเหรอ มันก็เหมือนกัน ทุกอย่างต้องมีการประเมิน อันนี้ก็ต้องมีการประเมิน แต่ประเมินออกมาด้วยใจ เรื่องเหล่านี้เป็นความเชื่อ มันก็แล้วแต่คนจะคิด แต่ตัวเกรซเองมองว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นมากกว่า

ถ้าเราเชื่อเรื่องของนรก สวรรค์ พระเจ้าก็คงไม่ใจร้ายพอที่จะให้คนทำบุญในวาระสุดท้ายของตัวเอง ก่อนที่จะจากไปอย่างสงบ ได้อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษา เขาก็คงไม่ใจร้ายที่ว่าเธอบริจาคไตเหรอ ชาติหน้าเกิดมาไม่มีไตนะ มองให้เป็นเรื่องตลกมากกว่า

เราก็ได้แต่ให้คำแนะนำกับคนที่อยากมีจิตใจกุศลแบบเราค่ะว่า การบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แบบนี้แล้วเขาจะมาเอาตัวเราไปเลย มันคือเป็นการที่เราเสียชีวิตแล้ว โดย 80% เสียชีวิตแบบธรรมชาติ แก่ตาย หรืออยู่ดีๆ หลับไปเฉยๆ หรืออุบัติเหตุที่ไม่ร้ายแรง

แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นโรคตับ โรคมะเร็ง ก็จะพิจารณาอีกทีในการรับร่าง อาจจะรับแค่อวัยวะเพื่อเป็นเคสศึกษาให้กับใครหลายๆ คน ฉะนั้นก็เป็นความเชื่อ และไม่จริงหรอกค่ะ ถ้าชาติหน้าเกิดมาแล้วไม่ครบ มันอยู่ที่ใจมากกว่า”


 
“แก่น - เปรี้ยว - ห้าว” สวยเก่งครบรส!

“ไม่คิดว่าโตมาจะเป็นอย่างนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เกรซห้าวมากๆ ช่วงหนึ่งก็หวานมากๆ และช่วงหนึ่งที่เปรี้ยวมากๆ เป็นชีวิตเด็กที่ครบรสมาก มีทั้งหัวเราะ น้ำตา แต่เกรซคิดว่าข้อดีของชีวิตวัยเด็ก คือ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ เกรซมีที่ปรึกษาที่ดีมาก นั่นก็คือพ่อและแม่”

เรียกว่าเป็นชีวิตวัยเด็กที่เติบโตด้วยความคุ้มค่า เธอบอกว่าครอบครัวเธอเป็นสายเอนเตอร์เทน แถมยังมีวิธีการเลี้ยงดูลูกสาวและลูกชายเหมือนเพื่อน ตรงนี้จึงทำให้ช่องว่างระหว่างครอบครัวกลายเป็นความสนิทสนม และพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง

“พ่อแม่เหมือนเพื่อน สามารถเล่าให้ฟังได้ทุกอย่าง แม้แต่กระทั่งเรื่องแฟน อกหัก โดนแฟนทิ้ง เกรซสามารถเล่าได้ เป็นชีวิตวัยเด็กที่คุ้มค่า และเป็นเด็กคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วไป ไม่ได้พิเศษอะไร เกรซจะชอบเป็นหัวหน้าห้อง ไม่ถือว่าเด็กเรียน ค่อนข้างแก่นอยู่เหมือนกันค่ะ ห้าวๆ

ถามว่าสนิทกับใครมากกว่ากัน น่าจะเป็นคุณแม่ค่ะ ความสนิทเกิดจากการที่เราเริ่มคุยกัน เปิดใจคุยกันทุกเรื่อง พัฒนามาเป็นเครื่องแต่งกาย รองเท้าไซส์เดียวกัน เสื้อผ้าไซส์เดียวกัน มันทำให้เราได้จอยกันมากขึ้น และมีคุณแม่ที่เหมือนมีพี่สาว

แต่ถ้าพูดถึงลักษณะบุคลิกนิสัย คุณพ่อจะเป็นคนใจเย็นมากกว่า แต่เกรซก็ไม่ได้ความใจเย็นจากคุณพ่อหรอก เกรซเป็นคนใจร้อน คุณแม่ก็เป็นคนใจร้อน น่าจะได้ความใจร้อนมาจากคุณแม่ คุณพ่อจะใจเย็นมาก เวลามีเรื่อง มีปัญหาอะไร เขาจะพูดช้าๆ ค่อยๆ พูด



เกรซและครอบครัว
 
แต่เราจะเป็นคนที่พร้อมชน พร้อมลุยมาก ก็เหมือนอย่างละครึ่งมากกว่า แต่ถ้ามีปัญหาอะไรที่ต้องใช้เหตุผลจริงๆ ก็จะได้คุณพ่อ เพราะคุณพ่อเป็นที่ปรึกษาปัญหากฎหมาย เกรซเป็นคนที่เหตุผลเยอะตั้งแต่เด็กๆ”

ถึงตรงนี้ก็ทำให้แอบสงสัยไม่ได้ว่า ด้วยการเลี้ยงดูของครอบครัวจะมีส่วนที่ทำให้เธอกลายเป็นคนที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นด้วยหรือไม่ เธอย้อนให้ฟังถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงมหา'ลัย และเป็นสิ่งที่ฝังใจเธอมาตลอด

“คิดว่ามีนะคะ เมื่อก่อนที่จะเข้ามาทำป่อเต็กตึ๊ง ตอนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ขับรถกันอยู่กับคุณแม่ ไปเจออุบัติเหตุ เราก็อยากลง แม่ก็บอกว่าไม่ปลอดภัย มันเป็นถนนใหญ่ เราจะลงไปช่วยเขา มันก็เป็นปมเรามาตั้งแต่เด็กเหมือนกันว่า เราอยากช่วย เราเห็นคนขี่รถผ่านไป ผ่านมา แต่ไม่เห็นมีใครลงไปช่วยเลย

แต่เกรซตั้งใจแล้ว อยากลงไปช่วย แม่บอกว่าไว้ถึงเวลา เดี๋ยวเราก็ได้ช่วย แต่ตอนนี้เราก็รีบ และอีกอย่างก็ไม่ปลอดภัย ตอนนั้นก็แอบน้อยใจนะว่าแม่มองโลกแคบมากเลย แค่นี้เอง ทำไมถึงไม่ให้ช่วย เขาจะตายหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ อย่างน้อยก็ไปปลุกเรียกเขา เราโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล

เหมือนเป็นปมมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่คุณแม่ก็อธิบายนะคะว่าทำไมถึงไม่ให้เราลงไป คือชุดนักศึกษาใส่กระโปรงสั้นเลย เครื่องแต่งกายเราไม่พร้อม มันอยู่บนถนนใหญ่ด้วย เพิ่งจะมาเข้าใจตอนที่โต และมีความรู้มากพอที่จะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร”

สำหรับผลงานละครเรื่อง “ตะวันอาบดาว” ของเธอ ขณะนี้กำลังทำการถ่ายทำอยู่ ซึ่งคงได้ลงจอให้ชมในช่วงสิ้นปี แม้ปัจจุบันเธออยู่ในฐานะนักแสดงเต็มตัว ทว่า ชีวิตก่อนเข้าวงการบันเทิงเธอคลุกคลีในสายแฟชั่นมาก่อน ซึ่งเธอก็แอบยอมรับว่างานละครเป็นสิ่งที่ชอบที่สุด

“ก่อนนั้นมีแฟชั่นโชว์ประปราย ช่วง ม.4 ก็มีถ่ายเอ็มวีบ้าง แต่เน้นการเรียนเป็นส่วนใหญ่ พอถึงจุดที่ได้มาลองแคสต์ดูก็รู้สึกว่าเราชอบทางนี้มากกว่าสายแฟชั่นหรือเปล่า มันชอบ มันเป็นตัวตนของเรา ก่อนที่เราจะมาเล่นละคร

เราก็ไปเล่นละครเวทีของโรงเรียนเป็นการแข่งขันระดับเขต เราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วการเล่นละครมันเป็นงานที่เราชอบหรือเปล่า หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ลองมาแคสต์ดู งานแฟชั่นถ่ายแบบก็เลยน้อยลง

เกรซชอบการเป็นนักแสดงมากกว่า เหมือนเราได้เล่าตัวตนของใครสักคนหนึ่งในบทละครนั้นๆ ผ่านออกมาภายในตัวตนของเราเอง เป็นงานที่ท้าทายกว่า ยากกว่า มันไม่จำเจ แต่การเดินแบบหรือถ่ายแฟชั่นก็เป็นตัวเอง และได้ใส่เสื้อผ้าสวยๆ เป็นงานที่มีข้อดีที่ทำให้เราสตรองขึ้นเหมือนกันค่ะ”








เรื่อง พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ พลภัทร วรรณดี




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น