xs
xsm
sm
md
lg

ฉันเป็นคนข้ามเพศ ไม่แคร์ใครเหยียด “หมอท็อฟฟี่” นายแพทย์สวยที่สุดในโลก!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยังสวยแพง! เก่งปัง จนโลกโซเชียลฯ เกาะติดแห่ชื่นชมแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี หลายคนก็ยังยกย่องให้เธอเป็น “นายแพทย์ที่สวยที่สุดในโลก” แถมโปรไฟล์เลิศ ดีกรีปังระดับ ผอ.โรงพยาบาล อัปเดตชีวิต "หมอท็อฟฟี่" ที่ยิ่งได้คุยล้วงลึก! ยิ่งสัมผัสได้ถึงความงามทั้งกายและความคิด 



เส้นทาง…แพทย์ข้ามเพศ

ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน คุณหมอท็อฟฟี่ - นพ.ศุภฤกษ์ ศรีคำ กลายเป็นประเด็นฮือฮา โด่งดังในโลกออนไลน์ ด้วยคำนำหน้า “นายแพทย์” แต่รูปร่างหน้าตากลับเป็นผู้หญิงสวยสะพรึงระดับที่ต้องได้มงฯ แถมยังมีดีกรีผู้บริหารโรงพยาบาล สังกัดกลุ่มงานองค์กรแพทย์ ประเภทข้าราชการ ตำแหน่งบริหารผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุดข้าวปุ้น และมีตำแหน่งตามสายงานนายแพทย์ ระดับชำนาญการ


เกือบ 10 ปี ที่คุณหมอคนสวยในวัย 34 ปี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุดข้าวปุ้น สานฝันคุณหมอคุณแม่สำเร็จที่อยากให้เป็นหมอ คุณหมอเล่าว่า รู้ตัวเองว่ามีใจเป็นหญิงมาตั้งแต่ประมาณ 7 ขวบ แถมยังเป็นเด็กเรียนดี ที่หนึ่งของห้องมาโดยตลอด เดิมทีอยากเรียนสายบริหารแต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็นหมอ จึงเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“รู้สึกจิตใจเป็นหญิงตั้งแต่จำความได้ ช่วง ป.1 - ป.2 ก็เริ่มแล้ว ก็เล่นแบบผู้หญิงเลย เล่นตุ๊กตากระดาษ ไม่เคยไปเล่นฟุตบอล ไม่เคยไปเล่นอะไรกับผู้ชาย เล่นตุ๊กตาบาร์บี้ตั้งแต่เด็ก

หมอท็อฟฟี่วัยเด็ก(เสื้อสีแดง )

[คุณพ่อคุณแม่หมอท็อฟฟี่]

คุณพ่อคุณแม่เขาก็ทราบ แต่ไม่รู้ว่าเราจะเป็นในแนวทางไหน แต่พอขึ้นประถมเราก็เรียนดี พ่อแม่ก็ภาคภูมิใจที่เรามีผลการเรียนที่ดี สอบได้ที่ 1 ตลอดตั้งแต่ประถม ไม่เคยหลุดจากที่ 1 เลยนะ ป.1 - ป.6 ที่หนึ่งของชั้นเรียน พ่อแม่น่าจะภูมิใจตรงนี้มากกว่าเราไปเล่นจับตุ๊กตา เขาก็คงไม่ได้โฟกัส ก็เลยไม่ได้มีความกดดันจากครอบครัว ถือเป็นโชคดีของคุณหมอที่ครอบครัวค่อนข้างให้กำลังใจ อยู่ข้างๆ

ครั้งแรกที่เริ่มแต่งชุดผู้หญิงสมัยตอน ป.4 อาจารย์ประจำชั้นแต่งตัวให้เป็นนางเงือก ถูกใจเลยค่ะ อาจารย์เขาก็ยังมองเห็นเนอะ (หัวเราะ) ก็รู้แหล่ะ เราก็อาจจะมีแบบอะไรตุ้งติ้งสมัยเด็ก อาจารย์ก็จับไปแต่งในวันสุนทรภู่ ก็แปลว่าอาจารย์ก็คิดเหมือนกับเรา พอตอนโตขึ้นมาก็หลีดมือที่แต่งตัวเป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นพวกสวยงามนะเป็นพวกตลก

แต่จริงๆ แล้วเป็นคนแอบฮานะ ตลก เป็นแต่งหญิงแล้วตลก ด้วยความตลกมาเรื่อยๆมั้งเลยไม่ค่อยเครียดกับเรื่องนี้ ก็แต่งเหมือนแต่งเล่นๆ แต่เอาจริงๆแต่งหญิงก็ไม่ได้เล่นนะ บางทีเราก็จริงจัง แต่เราก็ทำให้มันตลกได้ ก็ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เป็นคนไม่เครียดขนาดนั้น

Before & After
แต่สมัยเรียนแพทย์ยังแต่งเป็นผู้ชายอยู่นะ ยังใส่กางเกงธรรมดา ชุดนักศึกษาก็เป็นนักศึกษาชายนะ นอกเวลาเรียนก็แต่งเป็นผู้ชาย แต่มีบางวันก็เอาวิกมาใส่ เป็นผู้หญิงก็มี ถ้าว่างมีเวลาหน่อยก็แต่ง แต่ถ้าไม่มีเวลา รีบ ก็แต่งเป็นผู้ชาย

แต่ในใจเราก็คือชอบผู้ชายนะ ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงแล้วก็ชอบผู้ชาย ไม่ว่าจะแต่งตัวยังไงเราก็เป็นอย่างนั้น ข้างในมันเป็นอย่างนั้น

พอเริ่มมาเป็นหมอ ตอนแรกก็แต่งตัวแบบกึ่งๆ ลูกครึ่ง เสื้อผู้หญิง แต่ใส่กางเกงแต่ทรงเข้ารูป ยังไม่กล้าใส่กระโปรง ตอนที่เป็นแพทย์จบใหม่ ก็ยังไม่มั่นใจจะใส่กระโปรงลายดอกเหมือนเพื่อนที่เป็นผู้หญิง แต่อยากใส่มากเลยนะ จากนั้นก็ค่อยๆเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ใส่ทีละชิ้นสองชิ้น หลังๆพอไว้ผมยาวหน่อย ก็เริ่มใส่กระโปรง เราเริ่มแต่งหญิงก่อนเป็นผู้อำนวยการ

คนไข้ตอนแรกๆที่เห็น เขาคงจะแปลกใจ ว่านี่ผู้หญิงหรือผู้ชาย คงเป็นสาวสองแหล่ะ แต่หลังๆเขาก็บอก เออ... คุณหมอน่ารัก ยังไงคุณหมอก็น่ารัก พอเรามีการพัฒนาความสวยขึ้น เขาก็ยิ่งชอบ ทำไมยิ่งอยู่ไป นับวันๆ ทำไมยิ่งสวยขึ้น เขาก็จะถามอยู่เรื่อยๆ ทำไมยิ่งอายุมากขึ้น เวลาผ่านไปทำไมสวยขึ้นๆ

ก็จะมีคำถามว่า นี่เธอไปทำอะไรมาบ้าง เกาหลีไหม ทุบหน้าทุบอะไรไหม ก็เลยบอกว่า ไม่ได้ทำ มีไปทำก็คือการแปลงเพศ หรือการเสริมหน้าอก อันนั้นคือพื้นฐานของผู้หญิง คือคนที่อยากเป็นผู้หญิงก็จะต้องมีตรงนั้น”

สองล้าน มูลค่าแลกสวย


“ส่วนเรื่องการแปลงเพศเราคิดมานานมากแต่ยังไม่มีโอกาส และไม่อยากขอเงินพ่อแม่ ใช้เงินเยอะมากเลยนะแปลงเพศ ก็ทำงานเป็นหมอ เก็บเงินเอง แล้วก็ไปทำเอง ไม่ได้ขอพ่อแม่สักบาท ทั้งหมดเลยที่ทำทุกอย่าง ไม่เคยขอพ่อแม่
ตั้งแต่เรียนจบมามีแต่ให้เงินพ่อแม่ด้วยซ้ำ ไม่เคยขอ ทำหน้าที่ลูกค่ะ ก็ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ ไม่รบกวน

สำหรับมูลค่าการศัลยกรรมแปลงเพศ และเสริมหน้าอก รวมทั้งหมดที่ทำมา ประมาณ 2 ล้านบาท แปลงเพศแพงสุด 4 แสน รองลงมาคือหน้าอก 2 แสน แล้วก็ทำตา 1 แสน จมูกไม่เคยทำ อย่างอื่นเป็นพวกโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ร้อยไหม อันนี้นับเป็นยิบย่อย ก็แพงอยู่ เราทำกับอาจารย์ศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียง เน้นความละเอียดของงาน ไม่โฟกัสราคา ออกมาจริงคือเนี้ยบ

ผ่านมีด ไม่ได้ผ่านเยอะมาก ผ่านแต่ครั้งใหญ่ๆ แต่เข็มพวกโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ร้อยไหม สม่ำเสมอ เป็นคนที่ไม่อยากดูแก่ อายุมากขึ้น ก็ไม่มีใครที่อยากจะล่วงเลยไปตามอายุ อยากที่จะยังสวยอยู่


ไม่ต้องไปถึงเกาหลี แนะนำหมอศัลยกรรมคนไทยฝีมือประณีต ความละเอียด ถ้าเป็นช่างลายศิลป์ก็คือลายภาพวาดที่ละเอียด หมอคนไทยละเอียดมาก ลายเส้นเป็นลายเส้น ถ้ายกตัวอย่างลึกๆหน่อย เช่น การทำหน้าอก หมอไทยใช้เวลาทำนานมากเพราะอาจารย์ละเอียด กล้ามเนื้อแยกทุกมัดออก แล้วก็เย็บเข้าใหม่แบบเนียนมาก รอยแทบไม่มี ยอมรับว่า หมอไทยนี่ฝีมือละเอียดสุดแล้ว ทำที่ไทยก็ได้ ศัลยกรรมทำได้หมดแล้ว ทุกอย่างตอนนี้

อย่าทำอะไรที่ยาก เพราะแต่ละคนมีความเหมาะสมสรีระแต่ละคนเหมาะสำหรับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน เราควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อน แล้วเขาจะให้คำปรึกษาเรามาตัดสินใจ อะไรที่เหมาะกับเรา เราก็เลือก ไม่ใช่ทำเพราะคนอื่นทำแล้วสวย ใช่ว่าสิ่งนั้นจะเหมาะกับ”

เพศสภาพ….ความกดดัน


คุณหมอท็อฟฟี่นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุดข้าวปุ้นในวัยเพียง 25 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2554 จนถึงปัจจุบันกินเวลาเกือบสิบปี

“ทำงานเป็นนายแพทย์ชำนาญการ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี เป็นผู้อำนวยการมาได้ 9 ปี จะเข้าปีที่ 10 แล้ว ภูมิลำเนาเป็นคน จ.อุบลฯ โดยกำเนิด พูดได้ว่า เป็นคนอุบลฯ ที่ไม่ได้ไปทำงานที่อื่นเลย นอกจากอุบลฯ ทำงานอยู่ในพื้นที่มาตลอด

ถามว่าตอนแรกตั้งใจอยากเป็นหมอไหม จริงๆ อันนี้เป็นความตั้งใจของคุณแม่ แม่อยากให้เป็นหมอ ก็ตามใจแม่ แต่ตอนแรกอยากจะเรียนบัญชี บริหาร เพราะตอนเด็กๆ ชอบเรื่องตัวเลข ชอบวิชาคณิตศาสตร์ ชอบคำนวณ ก็คิดว่า น่าจะถนัด แต่พอถึงเวลาจริงๆแล้ว คุณแม่ก็เหมือนกับขอร้อง และคะแนนสอบเราก็เผอิญ ก็ถึงในระดับที่สามารถเรียนแพทย์ได้

ที่สำคัญเราอยากจะรู้เรื่องกลไกการช่วยเหลือคน คนเจ็บคนป่วย ช่วยอย่างไร เรียน เรียนเพราะอยากรู้ อาชีพหมอเป็นอาชีพที่ดี เป็นอาชีพที่สังคมค่อนข้างยอมรับเป็นอย่างสูง เป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก เพราะฉะนั้น ลึกๆ แล้วถ้าเป็นหมอได้ เราก็อยากเป็นแหล่ะ


ในส่วนของการบริหารโรงพยาบาลภาครัฐ ผู้ใหญ่เห็นแวว ก็เลยให้รับตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่อายุ 25 ปี จริงๆก็เป็นความชอบส่วนตัวของตัวเองที่เกี่ยวกับงานบริหาร เรื่องบัญชีบริหารอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสได้เรียนหลักสูตรของรามาธิบดี ที่เป็น MBA เพิ่มเติม

ถามว่า มีคนในกระทรวงสาธารณสุขปรามเราบ้างมั้ย ก็มีบ้าง เราก็ฟัง เราไม่เคยเถียงผู้ใหญ่เลย ผู้ใหญ่แนะนำอย่างไรทำตามหมด แต่ผู้ใหญ่ในกระทรวงท่านใจดี หมอได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานในระดับกระทรวงค่อนข้างบ่อย คือผู้ใหญ่เมตตาให้โอกาสได้ไปทำงาน ผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขท่านน่ารัก ใจดี แล้วก็เข้าใจ ส่วนใหญ่จะเป็นสายหมอ สายสหวิชาชีพที่อยู่ด้วยกัน เขาจะเข้าใจอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอย่าเป็นเด็กที่ก้าวร้าว อย่าเป็นเด็กที่ไม่น่ารัก เพื่อที่จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สง่างาม

สำหรับการปรับตัวในวัย 25 ปี ถือว่าปรับเยอะมาก จากเด็กที่เพิ่งเรียนจบคณะแพทย์ด้วย จริงๆประสบการณ์ในเรื่องวิชาชีพ ในเรื่องการดูแลคนไข้ ก็มีบ้างแล้วตอนฝึกงานตอนปี 4- 5- 6 แต่สายบริหารก็จะเป็นอีกโหมดหนึ่งเลย ต้องมาเรียนรู้เรื่องการทำงานสายบริหาร การทำงานร่วมกับคนอื่น ที่เป็นแนวบริหาร พวก HRD (Human Resource Development) คือเราต้องมีความรู้พวกนี้ เพิ่มขึ้นในอีกมิติหนึ่งเลย

ถามว่า กดดันมั้ยก็กดดันเรื่องงาน ทำงานสายบริหาร ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของการใช้ความสามารถเรา เราต้องศึกษา เราต้องเรียนรู้ เราโฟกัสเรื่องนั้นมากกว่า เรื่องการทำงานบริหารมากกว่า แล้วเพศสภาพเราก็ขึ้นมาตอนนั้น เราโฟกัสเรื่องเพศสภาพน้อยมาก ถามว่าเครียดไหม ก็นิดหนึ่ง


ถ้าแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือ ประมาณ 20% ที่คิดเรื่องเพศสภาพว่าเหมาะไหม อีก 80% คิดว่าเรื่องฉันจะบริหารงานอย่างไรดี โฟกัสเราไม่ได้อยู่ที่เรื่องนั้น มันข้ามผ่านมาจนที่เรามีผลงานเชิงประจักษ์ในด้านการบริหารที่ชัดเจน บริหารโรงพยาบาลจาก โรงพยาบาลที่วิกฤตการเงิน จากระดับ 7 ที่ติดลบสุดๆ คือหนักสุด มาเป็นระดับปกติได้ คือเราสามารถมีผลงานตรงนี้ได้ เราก็โฟกัสในผลงานของเรา แล้วเราก็มานั่งภูมิใจในผลงานของเรามากกว่าที่จะมาโฟกัสว่า ฉันลืมไปแล้วว่า ฉันเป็นเพศอะไร

คือตอนนั้นมองไม่เห็นเลยนะ คนที่กระแนะกระแหน หรือกระแซะอยู่ข้างๆ มองไม่เห็นเลย เหมือนเรามองไม่เห็นเขาเลย เป็นความโชคดีที่ตัวเองเป็นแบบนั้น รู้สึกโชคดีที่ข้ามตรงนั้นมาได้

มันเป็นกลไกทางจิตนะ ที่เราจะจัดการกับตัวเองยังไง เราโฟกัสเรื่องอะไร ก็ให้เทน้ำหนักไปที่เรื่องนั้น เรื่องที่เรามองข้าม หรือสนใจน้อย ก็คือไม่สนใจไปเลย ลดทอนน้ำหนักมันลง


ไม่มีความคิดไหน ไม่มีไอเดียไหนที่ถูกที่ผิดนะ สิ่งพวกนี้มันเป็นกลไกทางจิต ที่เราจะใช้คุยกับตัวเอง ปลอบตัวเองว่า เราจะมีแนวทางปฏิบัติตัวอย่างไร ในสภาพที่เกิดมาเป็นอีกเพศหนึ่งแล้วต้องการเป็นอีกเพศหนึ่ง แล้วเราต้องการทำงานตรงนี้ และเรามีงานเพิ่มเติมที่ต้อง เราต้องการเป็นคุณหมอที่รักษาคนไข้ เรามีงานเพิ่มเติมที่ต้องทำในสายบริหาร ในเพศสภาพแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้อยู่รอด ก็รอดมาได้

ทุกวันนี้ที่เป็น ผอ.มาจะ 10 ปีแล้ว ก็ยังอยู่เวรเองด้วย นอกจากจะบริหารแล้วก็อยู่เวรตรวจคนไข้ดึกเองด้วย
ประสบการณ์ครั้งแรกในการตรวจคนไข้ จะมีสต๊าฟประกบ เราก็ไม่ได้ตื่นเต้นมากเพราะมีอาจารย์แพทย์ แพทย์พี่เลี้ยงอยู่ด้วย เราก็ค่อนข้างสบายใจ แต่พอเราบินเดี่ยว เราต้องออกมาโรงพยาบาลที่ เราแหล่ะเป็นหมอ ใหญ่ที่สุดในโรงพยาบาล ก็ถือว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลอำเภอ 30 เตียง คือ ขนาดเล็กที่สุด เราต้องจัดการเองทุกอย่าง ต้องดูคนไข้ออก ว่าคนไข้เป็นอะไรมา โดยที่ไม่มีใครไกด์ให้ แว้บแรกเราต้องลำดับก่อนว่า คนไข้เป็นหนัก หรือเป็นเบา ต้องแยกให้ออกก่อน

เราก็จะไปสัมผัสหลายๆมุมของคนไข้ ได้เรียนรู้คนไข้ในหลายรูปแบบมาก แล้วก็ไปดูเขาถึงบ้านด้วย บางทีเราก็คาดเดาออกเลยว่า ทำไมเขาถึงเจ็บป่วยขนาดนี้ เขาเจ็บป่วยประมาณนี้ อาจจะเกิดจากพฤติกรรมบริโภค กรรมพันธุ์ หรือสิ่งแวดล้อม อะไรทุกอย่างเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยของคนไข้คนหนึ่งได้หมดเลยค่ะ ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาของคนไข้ได้มากขึ้น เพราะว่าเราได้อยู่ใกล้ชิด ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด”

ชีวิตแฮปปี้ ไม่โฟกัสเพศสภาพ


“เรื่องที่ว่าแบ่งแยกเรื่องเพศ เอาจริงๆนะ ในหัวคือคิดน้อยมากเลย เอาเป็นว่า ไม่สนใจ ถามว่ามีคนมาเหยียดไหม ไม่เหลือ ถามว่าเราต้องทำยังไงกับเขา ไม่ทำอะไรเลย ไม่เห็นต้องไปตอบโต้อะไรเลย เรื่องของเขา เหยียดก็เหยียดไป คิดอย่างนี้ไงคะ ก็เลยรู้สึกว่า สังคมน่าอยู่

ทุกวันนี้ทำงานมีความสุขมากแฮปปี้มาก ครอบครัวก็มีความสุข พ่อแม่เอนจอยมาก ดูแลพ่อแม่ได้อย่างดี สมบูรณ์แบบ ทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่เป็นหมอได้อย่างดี เป็นผู้บริหารที่ดูแลลูกน้องได้ดี อันนี้ก็แฮปปี้แล้ว ทำไมเราต้องไปแคร์คนที่เขามองเราไม่ดี ไม่แคร์ดีกว่า


อาจจะตอบในหลายๆประเด็น รู้สึกยังไงที่มานั่งในตำแหน่งนี้ เป็นเพศนี้ จริงๆเราเป็นคนที่ให้กำลังใจตัวเอง ถ้าเรามั่นใจว่าในสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แถมบางครั้งเรายัง ช่วยเหลือคนส่วนรวมได้มากขึ้นเราก็ทำ
เรื่องเพศสภาพหรืออะไรพวกนี้ คุณหมอมองข้าม หลายคนอาจจะไม่คิดเหมือนคุณหมอ แต่คุณหมอเป็นคนหนึ่งที่ ไม่เคยโฟกัสเรื่องนี้ ไม่ได้คิดมานานแล้วด้วยนะ ไม่ใช่แค่เพิ่งประดิษฐ์มา ตั้งแต่ 2-3 ปี ไม่ใช่ เป็นมาตั้งแต่คิดจะแปลงเพศแล้วด้วย

สวย โสด แซ่บ


“ตอนนี้ยังถือว่าโสด ถามว่ามีคนคุยไหม ก็มีเพื่อนคุย แต่ก็ยังโสดอยู่ เราก็ต้องดูว่าผู้ชายที่เข้ามาคุยกับเรา มาทำความรู้จักกับเรา ว่าเขาโอเคไหม ต้องการอะไรจากเราหรือเปล่า บางทีเราก็กลัวเหมือนกันนะ เรากลัวผู้ชาย ต้องการอะไรจากฉันหรือเปล่า

หมอก็เคยมีแฟนมั้ยมา 2-3 คน คบนานเป็น 10 ปี ส่วนสเปกเราไม่จำเป็นต้องเป็นคุณหมอด้วยกัน แต่ถ้าเป็นคุณหมอด้วยกันก็จะเข้าใจกัน เพราะเรื่องตารางเวลาการทำงาน เขาจะรู้ว่าตารางอยู่เวรคือ คุยไม่ได้ เพราะติดเคสคนไข้ เขาจะรู้ตรงนี้ การมีเวลาที่จำกัดของวิชาชีพ หมอด้วยกันจะรู้ คือจะเข้าใจกันเรื่องนี้ไม่ต้องมานั่งอธิบาย แต่ถ้าไม่ใช่หมอเขาก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจลักษณะงาน ยิ่งเราเป็นคนโฟกัสเรื่องงาน หรือเป็นผู้หญิงบ้างานอย่างเราจะไม่ค่อยมีเวลา เขาก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจเราเรื่องนี้มากๆ ถึงจะคุยกันได้ ไม่เร่ง ไม่รีบร้อน


ต้องหล่อมั้ย ไม่ใช่ว่าต้องหล่อขนาดนั้น ก็ดูดี เป็นเทสที่เราชอบ เราก็จะมีภาพสเปกในใจเราอยู่แล้วว่า ประมาณไหนที่เราชอบ ซึ่งก็อธิบายไม่ได้ แล้วแต่เลย ว่าคนที่เห็นแล้วถูกชะตา

ไม่มีสเปกว่าขาว ดำ เตี้ย สูง ไม่มี แต่เห็นแล้วชอบ คือ ชอบ แต่จะคุยต่อหรือมีโอกาสได้คุยต่อกันไหม เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ซีเรียส ไม่เคยวิ่งตามเรื่องนี้เลย แต่ถ้าเขาเข้ามาเองก็เป็นเรื่องของเขา ว่าเขาจะปรับได้มั้ย ชอบคนหน้าตาน่ารัก ไม่ชอบคนหล่อ ดูไนซ์ เฟรนด์ลีย์

เพราะเอาจริงๆเราก็ไม่ง่าย ยากอยู่ งานก็เยอะ เวลาก็ไม่มี ที่บ้านก็ต้องดูแล วันนี้จึงโสด มีแฟนก็ดี ถ้าเขามาช่วยให้กำลังใจ เหนื่อยๆมีเพื่อนคุย มีเพื่อนพากินข้าว แต่ถ้าเขาจะมารุกรานเรื่องการทำงานของเรา เราไม่โอเค

ความรักคนข้ามเพศมีจริง?!


“มีจริงค่ะ มันขึ้นอยู่กับบุคคล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ คุณจะเป็นเพศไหน เพศที่สาม 4 5 6 7 8 ทุกวันนี้มีหลายเพศจะตายแบ่งแยกไม่ได้หรอกค่ะ แต่ถ้าคุณมีความรัก เข้าใจซึ่งกันและกัน จะไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย ความรักกันจริง หรือความเป็นไปได้จริง หรือคำว่า ตลอดไปจะมีให้กันได้ในทุกๆเพศ แต่คนที่รักกันเหล่านั้น ต้องรู้จักรักษากันไว้ ถนอมน้ำใจกันไว้ เข้าใจซึ่งกันและกัน นี่คือนิยามมากกว่าที่จะ มาจำกัดว่าเพศไหน รักไม่ยืนยาวหรือรักยืนยาว เอาจริงๆ คู่หญิงชายทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เกี่ยวที่ตัวบุคคล เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเพศทางเลือก

ขออนุญาตเป็นตัวแทนเพศทางเลือก อย่างที่บอกว่าทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่เพศที่สาม ยังมีอีกหลายเพศามากมายในโลกนี้ บางอย่างจำแนกประเภทไม่ได้ด้วยซ้ำ ว่าตัวเองเป็นแบบไหน แต่เรื่องความรักหรือความเข้าใจ มันเป็นเรื่องของคนสองคนที่จะต้องสร้างกัน

ความสัมพันธ์แบบฉาบฉวย คุณหมอไม่เห็นด้วย มันไม่ยืนยาวหรอก ทุกวันนี้เอื้อต่อความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยมาก แต่ถ้าเราจะหาความจริงใจจากใคร รหรือการดูแลเอาใจใส่จากใครสักคนหนึ่ง เราต้องศึกษากันจริงๆ รู้จักกันจริงๆ รู้จักนิสัยใจคอกันจริงๆ และก็รักษากันไว้ให้ดีจริงๆ ถึงจะอยู่ด้วยกันได้ และจะมีคำว่า ตลอดไป

จาก “นาย”สู่ “นางสาว”…หนุนเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ


“มีหลายประเทศที่มีสิทธิเปลี่ยนแล้ว สนับสนุนไหม แน่นอนค่ะ ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่อยากได้คำนำหน้าชื่อ แต่ทุกอย่างมีขั้นตอน มีกระบวนการ ก็ให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย เพราะเราอยากเป็นแบบถูกกฎหมาย เราไม่ได้อยากเป็นท่ามกลางความขัดแย้ง ขอให้เป็นโดยชอบธรรมเถอะ ใจอยากค่ะ แต่ก็รอได้ ร่วมผลักดัน

ส่วนคำถามที่ว่า สังคมไทยเปิดกว้างเพศทางเลือกมั้ยบางส่วน จะบอกว่า ในความคิดเรา คิดว่าสังคมเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว เพศที่ไม่ใช่ผู้ชาย ผู้หญิง คิดว่าสังคมจะเข้าใจตรงนี้แล้ว แต่ว่าเขาโฟกัสที่เรื่องคุณภาพของคนมากกว่า คุณเป็นคนเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพไหม คุณทำตัวมีคุณค่าไหม คุณประกอบคุณงามความดีให้กับตัวเองและคนอื่นหรือเปล่ามากกว่า

คิดว่าสังคมไทยปัจจุบันนี้ยอมรับมากขึ้น จากอดีตที่โตมา คิดถึงแต่ก่อนเขาก็ยอมรับน้อยกว่านี้ ตอนนี้ทุกวันนี้ก็ดีขึ้น

“ความงาม” เติมเต็มความสุข!


“เป็นคนชอบเรื่องความสวยความงาม ช่วยเพื่อนทำคลินิคความงาม รับเป็นพาร์ทไทม์ แล้วก็เข้าประชุมคลินิคตามรอบปีแต่ละครั้งประจำ คือมีความรู้ที่เพิ่มพูนมาอีกเรื่องคือ Skin Aesthetic ความงาม เรียนแพทย์ เรียนบริหารจบแล้ว ก็มาเรียนความงามเพิ่ม

ความงามเป็นอาชีพเสริมเพราะว่าชอบ ทำด้วยความชอบ ความรัก มันเหมือนงานศิลปะ บางที ความสวยงาม กับศิลปะ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เราชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ได้เห็นเป็นงานด้วยซ้ำ ทำแล้วมีความสุข

แต่งานที่เราทำอยู่ตอนนี้ไม่ได้มีความทุกข์นะ สายบริหารเราก็มีความสุข เราเป็นหมอตรวจรักษาคนไข้ คนไข้หายป่วยเราก็มีความสุข สรุปแล้วเรามีความสุขมากๆในทุกๆเรื่อง ที่เราสร้างมา ทุกวันนี้ไม่เห็นต้องเครียดกับเรื่องอะไรเลย

นอกจากนี้ ในอนาคตอยากทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือสังคมในวงกว้างมากขึ้น ตอนนี้มีโครงการที่ทำอยู่กับเครือทั้งภาครัฐและเอกชนหลายโครงการ ตอนนี้ก็ระดมบริจาคเงิน ช่วยเหลือซื้อเครื่องมือแพทย์ในถิ่นทุรดันการที่ขาดแคลน ถ้าช่วยได้ก็ช่วยทำ ถ้ามีโอกาสอยากช่วยองค์กรการกุศลที่ช่วยผู้ยากไร้ในโลก ยูนิเซฟอะไรแบบนี้ ต้องจัดตารางเวลาหน้าที่ตัวเองด้วย ได้เท่านี้ก็ทำเท่านี้ไปก่อน”

ปัญหาลุกลาม รพ.รัฐ แพทย์ขาดแคลน 


“ปัญหาแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ ตามต่างจังหวัดน้อย เกิดจากปัญหาจากหลายๆอย่าง สิ่งที่ไม่เอื้อให้เด็กที่จบใหม่ หรือแพทย์ที่อยากลาออกอยู่แล้ว ทำให้ลาออกง่ายมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะแพทย์ที่ยังขาดแคลนอยู่ ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งถ้าสมมติมีนโยบาย หรือสิ่งที่พอช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ก็ควรจะสนับสนุน ให้แพทย์ได้อยู่ในของภาครัฐดีกว่า

เพราะว่าภาครัฐอย่างที่บอกทุกวันนี้ เรื่องระบบสุขภาพ เมืองไทยถือว่าเป็นระบบสุขภาพที่ดี ถึงอาจจะไม่ใช่ยอดเยี่ยม ติดอันดับโลก แต่ว่า มีระบบสุขภาพที่ดีประเทศหนึ่ง คือคนเจ็บคนป่วย สามารถไปหาหมอได้ พึ่งพาหมอได้ สมัยก่อนเคยเห็นไหมที่ยังไม่มีระบบสุขภาพที่ดีขนาดนี้ ต้องหอบเงินไปโรงพยาบาล สมัยนี้ไม่ต้อง แค่มีสิทธิ เช็คสิทธิ แล้วการรักษาก็ ส่วนใหญ่จะรักษาฟรีด้วยซ้ำ ซึ่งหมอก็รักษาเต็มที่ยู่แล้ว

ต้องยอมรับอาชีพแพทย์เครียด บางทีเรารับความคาดหวังของทั้งคนไข้ และญาติ บวกกับความคาดหวังของตัวเองด้วย บางทีมันเฟลไปพร้อมกันหมด มันก็เครียด ทางออกจะไปโวยวายใครก็ไม่ได้ ก็ร้องไห้นี่แหล่ะ

น้ำตาไม่ช่วยอะไรได้หรอก แต่ก็ทำให้เราดี หมอบางคน รู้สึกแย่มากจนถึงขั้น เป็นภาวะจิตตกก็มี อันนี้ถือว่าเป็นความเป็นจริง ว่าความเครียดในการทำงาน ที่ต้องมีความรับผิดชอบเป็นชีวิตของคนอยู่ในมือขณะนั้น มันก็ต้องมีความเครียดในระดับนั้น

สำหรับน้องๆ แพทย์รุ่นใหม่ หรือใครที่คิดจะเรียนแพทย์ เตรียมตัวไว้เลยนะคะ ว่าถ้าจะเรียนแพทย์ คุณต้องถือความรับผิดชอบที่เป็นชีวิต และความคาดหวังของคนอื่น คุณต้องมีความเครียดสูงแน่นอน แต่คุณต้องมีวิธีการบริหารจัดการกับสภาพจิตใจของคุณยังไงให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันให้ได้ ไม่ใช่จะเกิดแค่ครั้งสองครั้ง บางครั้งมันเกิดทุกวันเลยบางวันเป็นหลายๆครั้งก็มี”
“ปัญหาแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ ตามต่างจังหวัดน้อย เกิดจากปัญหาจากหลายๆอย่าง สิ่งที่ไม่เอื้อให้เด็กที่จบใหม่ หรือแพทย์ที่อยากลาออกอยู่แล้ว ทำให้ลาออกง่ายมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะแพทย์ที่ยังขาดแคลนอยู่ ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งถ้าสมมติมีนโยบาย หรือสิ่งที่พอช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ก็ควรจะสนับสนุน ให้แพทย์ได้อยู่ในของภาครัฐดีกว่า

เพราะว่าภาครัฐอย่างที่บอกทุกวันนี้ เรื่องระบบสุขภาพ เมืองไทยถือว่าเป็นระบบสุขภาพที่ดี ถึงอาจจะไม่ใช่ยอดเยี่ยม ติดอันดับโลก แต่ว่า มีระบบสุขภาพที่ดีประเทศหนึ่ง คือคนเจ็บคนป่วย สามารถไปหาหมอได้ พึ่งพาหมอได้ สมัยก่อนเคยเห็นไหมที่ยังไม่มีระบบสุขภาพที่ดีขนาดนี้ ต้องหอบเงินไปโรงพยาบาล สมัยนี้ไม่ต้อง แค่มีสิทธิ เช็คสิทธิ แล้วการรักษาก็ ส่วนใหญ่จะรักษาฟรีด้วยซ้ำ ซึ่งหมอก็รักษาเต็มที่ยู่แล้ว

ต้องยอมรับอาชีพแพทย์เครียด บางทีเรารับความคาดหวังของทั้งคนไข้ และญาติ บวกกับความคาดหวังของตัวเองด้วย บางทีมันเฟลไปพร้อมกันหมด มันก็เครียด ทางออกจะไปโวยวายใครก็ไม่ได้ ก็ร้องไห้นี่แหล่ะ

น้ำตาไม่ช่วยอะไรได้หรอก แต่ก็ทำให้เราดี หมอบางคน รู้สึกแย่มากจนถึงขั้น เป็นภาวะจิตตกก็มี อันนี้ถือว่าเป็นความเป็นจริง ว่าความเครียดในการทำงาน ที่ต้องมีความรับผิดชอบเป็นชีวิตของคนอยู่ในมือขณะนั้น มันก็ต้องมีความเครียดในระดับนั้น

สำหรับน้องๆ แพทย์รุ่นใหม่ หรือใครที่คิดจะเรียนแพทย์ เตรียมตัวไว้เลยนะคะ ว่าถ้าจะเรียนแพทย์ คุณต้องถือความรับผิดชอบที่เป็นชีวิต และความคาดหวังของคนอื่น คุณต้องมีความเครียดสูงแน่นอน แต่คุณต้องมีวิธีการบริหารจัดการกับสภาพจิตใจของคุณยังไงให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันให้ได้ ไม่ใช่จะเกิดแค่ครั้งสองครั้ง บางครั้งมันเกิดทุกวันเลยบางวันเป็นหลายๆครั้งก็มี”


โดยทีม MGR Live

เรื่อง : สวิชญา ชมพูพัชร
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพเพิ่มเติมจากเฟซบุ๊ก DrToffee Suparoek
ขอบคุณสถานที่ Tea Time's The Charm









** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น