xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลุยแยกห้องฉุกเฉินไม่รุนแรง 34 รพ.ลดแออัด บอร์ด สปสช.เห็นชอบจ่ายเงิน 150 ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ผุดไอเดียแยกห้องฉุกเฉินไม่รุนแรง หวังลดแออัด ด้าน บอร์ด สปสช.เห็นชอบหลักการ จ่ายค่าบริการนอกเวลาห้องฉุกเฉินไม่รุนแรง ให้ครั้งละ 150 บาท เริ่มต้น 34 รพ. คาดใช้งบ 150 กว่าล้านบาท จ่อออกประกาศรองรับต่อไป กก.สปสช.หลายคนห่วงเรื่องมาตรฐาน รพ.ไม่พร้อมเรื่องกำลังคน

วันนี้ (13 พ.ย.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาข้อเสนอการใช้สิทธิบริการทางสาธารณสุขตามนโยบายบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการ รายการบริการใหม่ คือ การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความสะดวกและจำเป็นของประชาชนที่รับบริการนอกเวลาราชการ ซึ่งจะมีการออกประกาศ สปสช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายฯ ต่อไป

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอแนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉินของ สธ. คือ การแยกห้องฉุกเฉินออกเป็น 2 ห้อง คือ 1. ห้องฉุกเฉินคุณภาพ สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงและสีเหลือง 2. ห้องฉุกเฉินไม่รุนแรง สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินสีเขียว และเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความสะดวกและความจำเป็นของประชาชน โดยหลักเกณฑ์คือหน่วยบริการไม่เรียกเก็บเงิน และขอให้กองทุนบัตรทองจ่ายค่าใช้จ่ายค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการสำหรับ ห้องฉุกเฉินไม่รุนแรง ซึ่งจะเริ่มนำร่อง 34 รพ. ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 ภายใต้ความพร้อมของสถานพยาบาล โดยจะมีการออกประกาศตามข้อ 10 วรรคสอง ของข้อบังคับมาตรา 7 กำหนดเพิ่ม “เหตุสมควรอื่นเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินและเพิ่มคุณภาพในการใช้บริการนอกเวลาราชการ” เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

นพ.การุณย์ กล่าวว่า โดยค่าชดเชยที่จ่ายให้สถานพยาบาล คือ 150 บาทต่อ 1 ครั้ง ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเข้ารับบริการประมาณ  1.05 ล้านครั้ง โดยประเมินจากการจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการจำนวน 10.46 ล้านครั้ง โดยเป็นช่วงนอกเวลาราชการ 10% คาดใช้งบประมาณ 157.50 ล้านบาท โดยจะเป็นการใช้เงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมในการดำเนินการ 

นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบัน สธ.ถูกบ่นเรื่องห้องฉุกเฉินมาก ตีกันก็ตีใน รพ. ดังนั้น อยากให้เห็นชอบในหลักการไปก่อน หากพัฒนา แก้ไข และทดลองใน 34 แห่งแล้วไม่เวิร์ก ก็พร้อมถอย เสียไป 150 ล้านบาท  ถ้าไม่ได้ผลดีตนก็ไม่ยอม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาห้องฉุกเฉิน คือ เพื่อช่วยลดความแออัดของห้องฉุกเฉิน และช่วยเพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ปรึกษา รมว.สธ. กล่าวว่า ความหวังที่จะเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์ที่ทำงานในห้องฉุกเฉินอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะก่อนหน้านี้ สปสช.ก็เคยจ่ายให้ แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่าไม่สามารถจ่ายให้ได้ แต่เป็นหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แต่พบว่า ปีนี้ สพฉ.ไม่มีการตั้งงบให้ แต่ปี 2564 ต้องตั้งงบไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจทำให้มีปัญหาดึงแพทย์ฉุกเฉินออกนอกระบบมากขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยแสดงความเป็นห่วงว่า หากมีการแยกห้องฉุกเฉินแล้วต้องปรับมาตรฐานหรือไม่ อย่างห้องฉุกเฉินสีแดงต้องมีมาตรฐานมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ กรณีที่ระบุว่าเป็นความสะดวกของประชาชนแปลว่า มาได้ทุกโรคหรือไม่ แล้วถ้าได้รับการวินิจฉัยว่า ไม่ใช่เจ็บป่วยฉุกเฉินทั่วไปต้องจ่ายเงินเองหรือไม่ รวมถึงความพร้อมของ รพ.ในขนาดต่างๆ จะทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ โดยเฉพาะ รพ.สังกัดอื่นๆ ที่มีจำนวนแพทย์ฉุกเฉินไม่ถึงตามเกณฑ์ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเร่งรีบ แต่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากเริ่มทำแล้วจะถอบหลังกลับได้ยาก หรือควรประเมินผลในระยะสั้นๆ ว่าควรดำเนินการต่อหรือไม่ เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น