xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งพัฒนา "ห้องฉุกเฉิน" รพ.ลดแออัด จ่อเปิดระบบแยกคนไม่ฉุกเฉินจริง "อนุทิน" ลั่นพร้อมหนุนงบ-คน-อุปกรณ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" เร่งหาแนวทางพัฒนา "ห้องฉุกเฉิน" รพ. ลดความแออัด ตั้ง "หมอเลี้ยบ" ประธานขับเคลื่อน ลั่นพร้อมหนุน "งบ-คน-อุปกรณ์" หากเกิดประโยชน์ ชี้ รพ.แต่ละแห่งอาจใช้แนวทางต่างกัน ด้านปลัด สธ.เผยหากไม่ฉุกเฉินจริง อาจเปิดให้บริการอีกระบบ ส่วนคนมารักษาโรคเฉพาะทางมีคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา

วันนี้ (13 พ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการพัฒนาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสังกัด สธ. ซึ่งจะนำร่องใน 21 รพ. ก่อนประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งตนได้เชิญ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ปรึกษา รมว.สธ.มาดูแลเรื่องนี้ ในการประชุมหาแนวทางที่จะทำให้มีการพัฒนาปรับปรุงห้องฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งห้องฉุกเฉินควรเป็นห้องฉุกเฉินสำหรับคนป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ แต่ก็เข้าใจว่า ถ้าเราเป็นญาติของคนป่วยเราก็ต้องการรับการดูแลเอาใจใส่จากหมอโดยทันที ก็มักจะพึ่งห้องฉุกเฉิน จึงอาจจะต้องมีการแยกคัดกรองออกไปว่าเป็นฉุกเฉินมาก กลาง หรือน้อย ต้องให้ทางคณะทำงานหาแนวทางกรรมวิธีต่อไป

เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มได้แนวทางพัฒนาห้องฉุกเฉินเบื้องต้นแล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนมีหน้าที่สนับสนุนนโยบายที่ดีๆ ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด เจตนารมณ์ แผนงานและความสำเร็จที่จะได้รับกลับมา ผลพลอยได้ที่จะได้รับ ถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพิ่มความปลอดภัย ความแออัดห้องฉุกเฉินลดลง ก้จะสนับสนุนในฐานะที่เป็นผู้คุมนโยบายการบริหารกระทรวง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณหรือสนับสนุนเรื่องของบุคลากรก็พร้อมสนับสนุน

ถามว่าต้องแยกห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ กับผู้ป่วยทั่วไปที่มาห้องฉุกเฉินเลยหรือไม่  นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนี้แล้วแต่แนวทางที่จะแนะนำมา แต่ละโรงพยาบาลก็อาจจะมีแนวทางที่แตกต่างกันไป ซึ่ง ผอ.รพ. แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน เขาคงหาวิธีที่ดีที่สุด

ถามต่อว่าหากคัดกรองแล้วไม่ได้ฉุกเฉินจริง จะมีการนำเรื่องของคลินิกพิเศษเฉพาะทานอกเวลามารองรับด้วยหรือไม่  นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ตรงนี้เป็นคนละเรื่องกัน ที่มีการพัฒนาคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำหรับให้บริการผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องมารับการรักษาแล้วไม่สะดวกในเวลาราชการ ก็จะพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนเรื่องระบบห้องฉุกเฉินก็รับนโยบายรองนายกฯ คือ มีการพัมนาห้องฉุกเฉินตั้งแต่กายภาพ ดูจำนวนบุคลากรที่เพียงพอ การกำหนดอุปกรณ์ต่างๆ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้วยการวางแผน และมีการประชุมร่วมกันกับ รพ.ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และถอดบทเรียนที่ดีๆ มา และจะมีการพัฒนาว่า ถ้าฉุกเฉินเรามีแล้วผู้ป่วยที่คิดว่าจำเป็นที่มารับบริการนอกเวลา แต่อาจจะยังไม่ฉุกเฉินมาก เราก็อาจเปิดให้บริการอีกระบบหนึ่ง เพื่อให้ลดการแออัดที่ห้องฉุกเฉิน ก็มีการพูดคุยเป็นตัวแบบ คิดว่าภายในปีนี้จะขยายทุกจังหวัด

"คนที่จำเป็นมา รพ. ใครว่าเขาฉุกเฉินไม่ฉุกเฉิน หากเป็นตัวเองมา รพ. เราก็ว่าเราฉุกเฉิน ดังนั้น เมื่อมาแล้วก็ต้องดูแล เว้นมา รพ.เพื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาโรคเฉพาะทางก็จะจ่ายเพิ่มในส่วนของคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา ซึ่งไม่ได้มี 24 ชั่วโมง อาจมีแค่ช่วง 17.00-20.00 น.ก็จบ แต่หากมากลางคืนตี 1-2 ไม่สบายมาก็ต้องมีหมอดูแลและไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย" นพ.สุขุมกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น