xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ ของบ 981 ล. สร้างตึกใหม่ ทำศูนย์แล็บเชื้ออุบัติใหม่ พัฒนาการแพทย์แม่นยำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมวิทย์ ชง รมว.สธ.ของบ 3 ปี 981 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารใหม่ 12 ชั้น เดินหน้างานห้องแล็บดูแลเชื้ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ พัฒนาการตรวจโรคมะเร็ง วัณโรค ยีนแพ้ยา พัฒนายาชีววะตถุ ต่อยอดงานการแพทย์แม่นยำ วิจัยสเต็มเซลล์รักษาผู้ป่วย ฟุ้งเป็นอาคารระบบความปลอดภัยชีวภาพสูงสุด ประหยัดพลังงาน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ มีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทั้งหมด 494 ห้อง มีอายุการใช้งานกว่า 30 ปี ชำรุดไป 114 ห้อง คิดเป็นร้อยละ 23 สภาพห้องไม่ผ่านมาตรฐานสากล เช่น ความปลอดภัย มีความชื้น น้ำรั่ว เป็นต้น ดังนั้น ระหว่างที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการตรวจเยี่ยม ตนจึงได้นำเสนอถึงสิ่งที่ต้องการการสนับสนุน คือ การสร้างอาคารปฏิบัติการและบ่มเพาะนวัตกรรมทางการแพทย์ (MSI) ซึ่งเป็นอาคาร 1 หลัง มีจำนวน 12 ชั้น โดเป็นอาคารขนาด 42x86 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 35,000 ตารางเมตร โดยภายในอาคารที่จะสร้างใหม่นี้จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.กลุ่มห้องปฏิบัติการเครื่องมือพิเศษ เคมีชีวเคมี พันธุกรรม ชีวโมเลกุล 24 ห้อง 2.กลุ่มห้องปฏิบัติการติดเชื้อ ปลอดเชื้อ เซลล์เพาะเลี้ยง เซลล์ต้นกำเนิด 21 ห้อง 3.ศูนย์ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และศูนย์วิจัยทางคลินิก 2 ชั้น และ 4.กลุ่มสำนักงานนวัตกรรม ห้องประชุม ส่วนความปลอดภัย ห้องควบคุมอุณหภูมิ และห้องเก็บตัวอย่าง 3 ชั้น

นพ.โอภาส กล่าวว่า ตัวอาคารจะเป็นอาคารระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสูงสุด ห้องปฏิบัติการเป็นระดับ BSL3 และ BSL2 สำหรับเชื้ออันตรายสูง นอกจากนี้ ยังออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ดาดฟ้าอาคาร เพื่อสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า และระบบปรับอากาศแบบ VRF หรือเทคโนโลยีที่ควบคุมการจ่ายปริมาณสารทำความเย็นโดยตรง จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 40% เมื่อเทียบกับระบบอื่น ซึ่งการก่อสร้างอาคารดังกล่าวคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 981 ล้านบาท จึงขอการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างภายใน 3 ปี คือ ปี 2564-2566 เพื่อจัดสร้างอาคารดังกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ในการสร้างอาคารใหม่แห่งนี้ คือ 1.เรื่องการแพทย์แม่นยำ สามารถควบคุมดูแลและพัฒนาวิธีตรวจ เช่น โรคมะเร็ง วัณโรค ยีนแพ้ยา เป็นต้น 2.สนับสนุนการให้บริการเรื่องการแพทย์แม่นยำ สามารถลงสู่บริการและรักษาประชาชนได้ทุกภูมิภาค 3.มีห้องปฏิบัติการระดับ BSL2 และ 3 เพื่อดูแลเรื่องโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ 4.ส่งเสริมยาชีววัตถุ จะทำการพัฒนาและควบคุมคุณภาพได้เพิ่มขึ้น ทำให้ขึ้นทะเบียนยาได้เร็วขึ้น 5.มีห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยา/พันธุกรรม ที่กำกับดูแลมาตรฐานห้องปฏิบัติการของประเทศไทย 6.ห้องปฏิบัติการสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาผู้ป่วย และ 7.มีศูนย์วิจัยทางคลินิก เพื่อพัฒนายา ผลิตภัณฑ์สุขภาพในขั้นตอนการทดสอบทางคลินิก




กำลังโหลดความคิดเห็น