xs
xsm
sm
md
lg

กทม.แจง “ประตูบีทีเอส” เปิดอ้าขณะวิ่ง เหตุคนซ่อมปิดล็อกไม่สนิท ไม่เกี่ยวระบบ สั่งลงโทษบริษัทซ่อมบำรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม.หารือบีทีเอส ปม “ประตูรถไฟฟ้า” เปิดอ้าขณะวิ่ง แจงเกิดจากคนซ่อมประตูปิดล็อกไม่สนิท ไม่เกี่ยวกับระบบ กำชับทางบีทีเอสลงโทษบริษัทรับจ้างซ่อมบำรุง พร้อมตรวจสอบขบวนรถเข้มขึ้นก่อนปล่อยออกวิ่ง คาดปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณครบทุกขบวน-ทุกสถานีกลาง ก.ย.นี้ สั่งทำแผนเปลี่ยนคลื่นความถี่ หากรถขัดข้องอีก

วันนี้ (7 ส.ค.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารบีทีเอส ว่า วันนี้ได้หารือกับทางบีทีเอสใน 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งทางบีทีเอสรายงานว่า ได้ปรับเปลี่ยนตัวรับสัญญาณจากโมโตโรลา เป็นม็อกซา ครบทุกขบวนและทุกสถานี ส่วนอุปกรณ์กรองสัญญาณ หรือฟิลเตอร์ ได้ติดตั้งในขบวนรถทั้งหมดแล้ว แต่สถานีรถไฟฟ้าติดตั้งไป 40-50% คาดว่า ช่วงกลาง ก.ย.นี้ จะติดตั้งได้ครบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ พบว่า ระบบมีความเสถียรมากขึ้น ความขัดข้องของขบวนรถน้อยลง ทางบีทีเอสมั่นใจว่า หลังเสร็จสิ้นทั้งหมด ก.ย.นี้ โอกาสที่รถจะเกิดความขัดข้องจะน้อยลง แต่ตนก็ได้ให้การบ้านว่า หากปรับปรุงครบ 100% แล้ว ยังเกิดเหตุการณ์ขัดข้องอีก ก็ให้ไปดำเนินการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่การเดินรถ ซึ่งจากการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อคราวก่อน กสทช.ก็ไม่มีปัญหาที่จะเปลี่ยนคลื่นความถี่ให้ แต่ต้องไปทำข้อมูลว่า หากเปลี่ยนคลื่นสัญญาณจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร คาดว่าจะเสร็จในสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้ การเตรียมการต้องเตรียมล่วงหน้า ไม่ใช่ให้เกิดเรื่องแล้วถึงมาหารือ อย่างไรก็ตาม หากต้องเปลี่ยนคลื่นความถี่ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางบีทีเอสต้องออกเอง ไม่ใช้ผลักมาเป็นภาระของผู้โดยสาร

นายสกลธี กล่าวว่า 2.เรื่องประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดระหว่างวิ่ง ซึ่งเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ทางบีทีเอสได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า เดิมประตูบานดังกล่าวมีปัญหาเรื่องแรงแม่เหล็กดูดประตูให้ปิดมีความเบา จึงได้ให้บริษัท ซีเมนส์ ซึ่งเป็นบริษัทเอาต์ซอร์สของบีทีเอสเข้ามาซ่อมบำรุง โดยการซ่อมบำรุงนั้นจะต้องมีการปลดตัวล็อกซึ่งมีลักษณะเป็นเกลียวเพื่อนำประตูออกมาซ่อม ซึ่งระบบในการปลดล็อกเป็นระบบที่ต้องทำด้วยมือเท่านั้น แต่เมื่อซ่อมเสร็จและนำประตูกลับเข้าไปติดตั้ง ปรากฏว่า ผู้ซ่อมบำรุงได้ปิดตัวล็อกไม่สนิท ทำให้ตอนขบวนรถออกจากสถานีมาทางหมอชิต ซึ่งมีช่วงที่มีทางลาดและชัน ทำให้ประตูคลายล็อกออก ยืนยันว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากฟังก์ชันของคน ไม่เกี่ยวข้องกับระบบ เพราะหากเป็นที่ระบบ เมื่อมีปัญหาจะเตือนไปยังศูนย์ รถก็จะหยุดจอดไม่สามารถเคลื่อนได้ แต่กรณีดังกล่าวเพราะปิดล็อกไม่สนิท ทำให้เมื่อประตูเปิดจึงไม่เกิดการส่งสัญญาณเตือน ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดความผิดพลาดจากคน และไม่ใช่คนของทางบีทีเอส แต่เป็นคนบำรุงรักษา อย่างไรก็ตาม บีทีเอสต้องไปลงโทษบริษัทซ่อมบำรุงที่มาดูแลด้วย

“หลังจากเกิดเหตุมีการเปลี่ยนกระบวนการตรวจสอบรถใหม่ โดยให้ตรวจสอบเข้มขึ้นทุกอย่างก่อนรถวิ่ง โดยเมื่อตรวจสอบประตูเดิมทีจะตรวจ 1-2 ครั้ง หลังจากแก้ปัญหาเรื่องประตูเสร็จ ก็เปลี่ยนให้บริษัท ซีเมนส์ ตรวจสอบ 4 รอบ และบีทีเอสตรวจสอบอีก 4 รอบ รวมเป็น 8 รอบ รับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุเช่นนี้อีก ระบบความปลอดภัยตัวรถยังมี 100% ที่บอกว่าเกิดจากตัวรถเก่าและมีปัญหาคงไม่ใช่” นายสกลธี กล่าวและว่า ส่วนประเด็นเรื่องที่มีน้ำรั่วนั้น ต้องชี้แจงว่า ขบวนรถทั้ง 52 ขบวนนั้น นำเข้ามาจากเยอรมัน 35 ขบวน และจีน 17 ขบวน ซึ่งของเยอรมันไม่เคยมีปัญหา มีแต่ของจีนที่เกิดปัญหาช่วงแรกๆ แต่แก้ไขทั้งหมดแล้ว แต่ที่เกิดเหตุล่าสุดถือเป็นครั้งแรกของรถจากเยอรมัน ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่า เกิดจากระบบซีลท่อสายไฟข้างในเสื่อม ประกอบกับมีฝนตกหนักในวันนั้น ทำให้น้ำรั่วเข้ามา จึงดำเนินการแก้ไขทั้ง 35 ขบวนเสร็จภายในเดือนนี้ โดยการเปลี่ยนสายไฟใหม่ทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น