กรุงเทพธนาคม และบีทีเอส เข้าตรวจรับขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสขบวนใหม่ ขนส่งทางเรือจากตุรกีถึงท่าเรือแหลมฉบังวานนี้ จากทั้งหมด 22 ขบวน เพื่อนำไปเดินรถรองรับส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ ปลายปีนี้
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ซี 0 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้เข้าตรวจรับขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสขบวนใหม่ หลังขนส่งจากกรุงอังการา ประเทศตุรกี มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
นายกิติศักดิ์กล่าวว่า รถไฟฟ้าขบวนนี้เป็นหนึ่งใน 22 ขบวนที่บีทีเอสจัดซื้อจากบริษัท ซีเมนส์ (SIEMENS) เพื่อนำมารองรับผู้โดยสารในเส้นทางเดินรถไฟฟ้าปัจจุบัน และส่วนต่อขยาย สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร มีกำหนดจะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.นี้ และเมื่อส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เสร็จเรียบร้อย ส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีระยะทางรวม 68.25 กิโลเมตร จะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัย และประหยัดเวลา
ด้านนายสุรพงษ์กล่าวว่า รถไฟฟ้าขบวนใหม่นี้ออกแบบโดยผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในประเทศเยอรมนีและออสเตรียเป็นส่วนใหญ่ แล้วนำมาประกอบที่โรงงานของบริษัท โบซานคายา ประเทศตุรกี พันธมิตรทางการค้ากับบริษัท ซีเมนส์ และเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการปรับรูปโฉมให้ดูทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถที่ช่วยประหยัดพลังงาน และมีพื้นที่จุคนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของบริษัท ซีเมนส์ ทุกประการ และจะใช้สเปกเดียวกันหรือดีกว่าขบวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม เพื่อให้เข้ากันได้กับระบบต่างๆ ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่จะเลือกใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดจากผู้ผลิตชั้นนำของโลก เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และลดความหนาแน่นของผู้โดยสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรถไฟฟ้าขบวนใหม่ที่บีทีเอสสั่งซื้อมาจากบริษัท ซีเมนส์ เป็นขบวนรถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้ มีน้ำหนัก 140 ตัน ประกอบด้วย ประตู 4 บาน ที่นั่งติดกัน 7 ที่นั่ง รวม 112 ที่นั่ง กระจกกั้นระหว่างผู้โดยสารและประตูรูปโฉมใหม่ เพิ่มพื้นที่พนักพิงสำหรับยืนเพิ่มเติมจุได้ 1,460 คนต่อขบวน และพื้นที่สำหรับรถเข็นโดยใช้สัญลักษณ์บนพื้น พร้อมระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยบีทีเอสลงนามสั่งซื้อกับบริษัท ซีเมนส์ เมื่อเดือน พ.ค. 2559 พร้อมบำรุงรักษาเป็นเวลา 16 ปี โดยเริ่มประกอบที่โรงงานโบซานคายา ประเทศตุรกี เมื่อเดือน เม.ย. 2560 ใช้เวลา 14 เดือนจึงแล้วเสร็จ จากนั้นได้ขนส่งทางเรือจากกรุงอังการา ประเทศตุรกี เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ระยะทาง 15,000 กิโลเมตร ใช้เวลา 6 สัปดาห์ ถึงท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม บีทีเอสยังได้สั่งซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีอาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล ประเทศจีนอีก 24 ขบวน รวมทั้งสองบริษัท 46 ขบวน 148 ตู้ งบลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
สำหรับบริษัท ซีเมนส์ ได้เข้ามาบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชน 3 โครงการ นับตั้งแต่ปี 2542 โดยเป็นผู้จัดหาขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส แบบ 4 ตู้ จำนวน 35 ขบวน ต่อมาปี 2547 ได้จัดหาขบวนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที แบบ 4 ตู้ 35 ขบวน ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบส่งไฟฟ้า และอุปกรณ์การซ่อมบำรุงทั้งหมด และได้ส่งมอบขบวนรถไฟฟ้า 9 ขบวน ในโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) เปิดให้บริการในปี 2553