“บีทีเอส” เผยรถล็อตใหม่ขบวนแรกจากซีเมนส์ ปรับปรุงรูปแบบเก้าอี้ภายในเป็นที่พิงแทนนั่ง 2 แถวเพิ่มพื้นที่ว่างรับผู้โดยสารได้อีก 83 คน/ขบวน ส่วนสายสีลมเพิ่มความถี่ไม่ได้ ติดคอขวด สะพานตากสินรอ EIA ผ่าน ลุยสร้างใน 2 ปี
นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี จัดซื้อจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด เพื่อนำมารองรับปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน และส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. ที่มีกำหนดจะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2561 ขบวนแรกจำนวน 4 ตู้ ได้ขนส่งจากกรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรีแล้ว และจะนำเข้าทดสอบตามขั้นตอนต่อไป โดยซีเมนส์เป็นผู้ผลิตที่เป็นที่ยอมรับและมั่นใจในเรื่องคุณภาพ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี กล่าวว่า บริษัทฯ สั่งซื้อรถจากซีเมนส์ จำนวน 22 ขบวน รถขบวนแรกนี้จะนำออกท่าเรือแหลมฉบังไปยังศูนย์ซ่อมบำรุง จ.สมุทรปราการ ในคืนวันที่ 7 และ 8 ส.ค.เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเป็นกระบวนการทดสอบภายในศูนย์ซ่อม หากมีปัญหาจะแก้ไขได้ทัน และหลังจากนั้นจะทยอยขนส่งรถเข้ามาเพิ่มรถไฟฟ้า 2 ขบวนต่อเรือ 1 ลำ โดยในเดือน ธ.ค. 61 จะเข้ามาประมาณ 10 ขบวน และครบทั้ง 22 ขบวนในเดือน เม.ย. 2562 ส่วนรถที่ซื้อจากบริษัท ซีอาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำนวน 24 ขบวนนั้น ขบวนแรกจะเข้ามาในเดือน ธ.ค. 2561 และครบทั้งหมดใน ธ.ค. 2562 โดยรวมทั้งสองบริษัท 46 ขบวน 148 ตู้ งบลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท
โดยรถไฟฟ้าขบวนใหม่นี้ได้มีการปรับรูปโฉมให้ทันสมัยมากขึ้น มีจอ LED บอกเส้นทาง มีกล้อง CCTV ภายในตัวรถ เพิ่มราวจับ ปรับขนาดที่นั่งให้เหมาะไม่กีดขวาง และปรับที่นั่งเป็นแบบที่พิง หรือ Perch seat ตู้ละ 2 แถว และเป็นที่นั่งปกติ 4 แถว ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่าปกติโดยให้ผู้โดยสารยืนพิงเพื่อพักสะโพกซึ่งจะทำให้การเดินเข้าออกสะดวกและทำให้เหลือพื้นที่ว่าง เพิ่มความจุผู้โดยสารในแต่ละขบวนอีก 10% จาก 1,490 คนต่อขบวน หรือ 372 คนต่อตู้ เป็น 1,573 คนต่อขบวน รูปแบบนี้มีใช้ในรถไฟฟ้าลอนดอน และสิงคโปร์อย่างแพร่หลาย
ปัจจุบันบีทีเอสมีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 7 แสนคนต่อวัน รถขบวนใหม่จะช่วยเพิ่มความถี่ในสายสุขุมวิท จาก 2.40 นาทีเป็น 2.20 นาที ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน ส่วนสายสีลมยังคงความถี่ 3.45 นาทีเท่าเดิม เพราะติดปัญหาคอขวดที่สถานีสะพานตากสิน (S6) ที่อยู่ระหว่างขออนุมัติ EIA เพื่อขยายทางวิ่ง หากอนุมัติจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี โดยรถใหม่จะช่วยในการเพิ่มความจุต่อขบวนเท่านั้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างจัดซื้อตู้จำหน่ายบัตรโดยสารอีก 52 ตู้ และปรับเปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งหมดเป็นระบบสัมผัส (touch screen) ลงทุนรวมกว่า 400 ล้านบาท และยังได้หารือกับธนาคารกรุงเทพ เพื่อพัฒนาในการชำระค่าโดยสารผ่านการสแกน QR Code และแล้วเสร็จปลายปี 2561 ซึ่งจะทำให้การใช้ริการมีความสะดวกรวดเร็ว
“ปัญหาระบบอาณัติสัญญาณ ปรับปรุงจนมีการรบกวนน้อยมาก ไม่มีอุปสรรคในการเดินรถ และมีความพร้อมรองรับการเปิดส่วนต่อขยายสายสีเขียวในเดือน ธ.ค.นี้”