xs
xsm
sm
md
lg

10 ปี ล้างไตทางช่องท้อง ช่วยเข้าถึงการรักษา ลดตาย คุณภาพชีวิตดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


6 องค์กรร่วมประกาศความสำเร็จ “10 ปี นโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง” ช่วยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศเข้าถึงการรักษา ลดอัตราตาย แถมมีคุณภาพชีวิตที่ดี เผยปัจจุบันมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในระบบกว่า 2.4 หมื่นคน พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “ผู้ริเริ่มนโยบาย PD FIRST POLICY” 

วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี มีการจัดงานประชุมวิชาการหนึ่งทศวรรษการพัฒนาคุณภาพบริการล้างไตผ่านช่องท้อง พร้อมมอบรางวัล “ผู้ริเริ่มนโยบาย PD FIRST POLICY (การล้างไตช่องท้องเป็นทางเลือกแรก) ในประเทศไทย ที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้มากกว่า 80,000 รายจนถึงปัจจุบัน” จัดโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมพยาบาลโรคไต ฯลฯ ได้แก่

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข, นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช., รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นพ.ไพจิตร วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งไทย, ศ.ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ อดีตนายกสภาการพยาบาล, นางดรุณี จันทร์เลิศฤทธิ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลนำร่องโครงการล้างไตผ่านช่องท้องและเป็นศูนยบำบัดทดแทนไตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย เป็นโรครักษาไม่หาย จำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องโดยเฉพาะการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตแม้ว่าการปลูกถ่ายไตจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดการบริจาคไตที่มีจำนวนน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต โดยในอดีตคำพูดว่าเป็นโรคไตก็เหมือนใกล้ตาย เนื่องจากการรักษาต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 250,000 บาทต่อปี ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาการเงินไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ แม้ว่าบางรายมีกำลังทรัพย์แต่ระยะยาวต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล แต่จากที่ สปสช. ได้ดำเนินนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่องปีงบประมาณ 2551 หลังมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 และได้มีการพัฒนาระบบโดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบำบัดทดแทนไตมากขึ้นและไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา

ทั้งนี้ จากปี 2551 ที่ได้เริ่มนโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง ขณะนั้นมีผู้ป่วยที่รับการล้างไตผ่านช่องท้อง 1,198 ราย โดยระหว่างนั้นจำนวนผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เข้าถึงการล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 24,244 ราย ทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องแบบต่อเนื่องปัจจุบันน้อยกว่าร้อยละ 9.2 ต่อปี

“การล้างไตผ่านช่องท้องจุดเด่น คือ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานและใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติได้ ผู้ป่วยเองรู้สึกมีคุณค่าใช้ชีวิต ดังนั้น สมาคมโรคไตฯ ขอสนับสนุนและพัฒนาการรักษาการล้างไตอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไป” นายสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายวันนี้ สปสช. เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบจนทำให้เกิดการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยเฉพาะในปี 2550 ที่นับเป็นก้าวแรกของพลังความร่วมมือ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้น ที่ได้ประกาศเดินหน้านโยบายดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีการสนับสนุนจากสมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ ในการปรับกระบวนการบริหารจัดการและดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ มีพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขทำหน้าที่มดงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จนทำให้นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมบริหารจัดการจนทำให้น้ำยาล้างไตมีราคาถูกลง และมีบริการจัดส่งให้กับผู้ป่วยเข้าถึงได้ ตลอดจนเครือข่ายผู้ป่วยที่มีส่วนร่วมพัฒนาระบบ

“10 ปีที่ผ่านมา นับว่าเร็วมากสำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อดูจากอุปสรรคทั้งปัญหาด้านจัดการ ปัญหาทัศนคติ และงบประมาณที่เราร่วมก้าวข้ามมาได้ และเปลี่ยนแปลงจากจำนวนคนไข้ล้างไตผ่านช่องท้อง 0 รายในวันเริ่มต้น จนปัจจุบันมีผู้ป่วยรับการล้างไตผ่านช่องท้องกว่า 24,000 คน เป็นผลที่มาจากความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ที่นำไปสู่ชัยชนะร่วมกัน นอกจากนี้ยังเป็นการบรรลุวิสัยทัศน์การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญจากนี้คือเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันวางแผนภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะที่หน่วยบริการต้องมีคุณภาพมากขึ้น การขับเคลื่อนในมิติอื่นในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาระบบบริการที่ไม่หยุดนิ่งเพื่อเพิ่มทางเลือกการบำบัด ตลอดจนการสื่อสารข้อมูลข่าวสารความสำเร็จเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นการเดินหน้าเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมาะสมกับที่เป็นอยู่



กำลังโหลดความคิดเห็น