xs
xsm
sm
md
lg

ยกของหนักผิดท่า เสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เตือนคนหนุ่มสาว “ยกของหนัก” ผิดท่า นั่งยืนทำงานไม่ถูกท่า เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ชี้ ทับประสาทคอ ส่งผลปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวลงไปแขนขา ทับส่วนเอวจะร้าวสะโพกและขา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้านิ้วเท้าไม่ขึ้น

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หมอนรองกระดูก คือ เนื้อเยื่อที่มีลักษณะด้านนอกคล้ายยางรถยนต์ ส่วนด้านในจะมีลักษณะคล้ายวุ้น อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ตั้งแต่คอ อก จนถึงเอว ทำหน้าที่เป็นข้อต่อรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง และมีหน้าที่ช่วยรับแรงกระแทก เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ยืน กระโดด บิดตัว และเพิ่มความยืดหยุ่นของการเคลื่อนไหว ในกรณีที่เกิดความเสื่อมของหมอนรองกระดูกตามอายุ และการใช้งาน จะทำให้รับน้ำหนักและยืดหยุ่นได้น้อยลง เกิดการปลิ้นและโป่งขึ้นของหมอนรองกระดูก จนไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่โดยรอบแนวกระดูกไขสันหลัง เรียกว่า ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยปกติแล้วหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักเกิดกับกลุ่มคนอายุมาก แต่อาจเกิดในวัยหนุ่มสาวได้ หากมีกิจกรรมที่ส่งผลต่อความเสื่อมของหมอนรองกระดูกที่ไวขึ้น เช่น ยกของหนักด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม นั่งหรือยืนทำงานที่ไม่ถูกท่า ได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทกรุนแรงที่กระดูกสันหลัง ออกกำลังกายหักโหม และน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

นพ.พงษ์วัฒน์ พลพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการด้านเวชกรรม สาขาประสาทศัลยศาสตร์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกดทับ โดยถ้ากดทับที่เส้นประสาทบริเวณคอ จะมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวลงไปแขนขา ข้างใดข้างหนึ่ง ชาแขน ล้าขา หรืออ่อนแรงแขนขา แต่ถ้าเกิดการกดทับเส้นประสาทส่วนเอว จะมีอาการปวดบริเวณเอว ร้าวลงสะโพกและขา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าหรือนิ้วโป้งเท้าไม่ขึ้น หากมีอาการรุนแรงจะชาไปรอบๆ ก้น และขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลำบาก สำหรับแนวทางการรักษา โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็นอยู่ โดยเริ่มจากพักการใช้งาน หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือกิจกรรมที่ต้องใช้งานส่วนคอและเอวรุนแรง ร่วมกับการทานยา เพื่อลดอาการอักเสบ ทำกายภาพบำบัด เพื่อให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาการพักฟื้น ประมาณ 1 - 3 เดือน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องผ่าตัดซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์

ส่วนการป้องกันหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ ไม่ยกของหนัก หรือยกของในท่าเดิม ๆ มากเกินไป ปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทุกๆ 2 - 3 ชั่วโมง หมั่นออกกำลังกาย ทำกายบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นคอ หลังและหน้าท้อง ไม่ควรมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกลดลง และเกิดการเสื่อมเร็วขึ้น และที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น