กรมแพทย์เผย “โรคไขสันหลังอักเสบ” เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือภูมิคุ้มกันผิดปกติเข้าทำลายไขสันหลัง ส่งผลแขนขาอ่อนแรง ชา มีปัญหาการขับถ่าย แนะผู้ป่วยออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำกายภาพบำบัด ทานยาให้ครบ
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไขสันหลังอักเสบ คือ โรคที่มีอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทในไขสันหลัง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเข้าทำลายไขสันหลัง หรืออาจเกิดภายหลังการติดเชื้อ อาทิ โรคติดเชื้อไวรัส โรคทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคเอส แอล อี โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง การได้รับวัคซีน เช่น วัคซีนโรคหัด โรคคางทูม โรคไขสันหลังอักเสบส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการแสดงของโรคดังกล่าว ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขา อ่อนแรง ชา หรือมีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ โดยบางรายจะมีอาการแสบร้อน หรือมีอาการคล้ายมีอะไรมารัดตามตัว มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายเป็นตะคริว
นพ.ภาสกร กล่าวว่า การป้องกันภาวะปลอกหุ้มเส้นประสาทไขสันหลังอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนั้น ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง อาจป้องกันโดยการรักษาสุขอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเองที่ดีเมื่อเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอทำกายภาพบำบัด ฝึกการขับถ่ายตามแพทย์แนะนำ ดูแลอย่าให้ท้องผูก ป้องกันการติดเชื้อ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ทานยาให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา และควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการแขนขาอ่อนแรงมากขึ้น
นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ปัจจัยของการเกิดโรคเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง อาจมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้น เช่น การติดเชื้อไวรัส สำหรับการวินิจฉัยโรคเพื่อหาสาเหตุของไขสันหลังอักเสบ คือ 1. การส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูตำแหน่งรอยโรค และเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจแสดงอาการคล้ายคลึงกัน เช่น การมีก้อนมากดทับไขสันหลัง 2. การตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อดูการอักเสบ และส่งตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไขสันหลังอักเสบ 3. การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ซึ่งจะบอกสาเหตุที่แน่ชัดและช่วยวางแผนการรักษาในระยะยาว
นพ.เมธา กล่าวว่า การรักษาถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสต้องให้ยาต้านไวรัส แต่หากเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติในระยะเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา สำหรับการรักษาในระยะยาวขึ้นอยู่กับผลของการตรวจเลือด ถ้าพบว่ามีการกำเริบของโรคจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 - 5 ปี ส่วนในกรณีที่เป็นโรคไขสันหลังอักเสบแต่ไม่พบการกำเริบของโรค ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพียงระยะสั้น 6 เดือน เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันมีผลข้างเคียง เช่น การติดเชื้อ เบาหวาน ไขมันสูง กระดูกพรุน เป็นต้น