อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุระวังป่วยโรคไข้เลือดออก หลังพบ 4 เดือนแรกปี 61 พบผู้ป่วยถึง 199 คน เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ชี้เหตุที่มีการระบาดเร็วมาจากสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกสลับมีอากาศร้อน ทำให้ยุงลายที่เป็นพาหนะนำโรควางไข่และเติบโตได้เร็วกว่าปกติ แนะพบเข้าข่ายต้องสงสัยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก รีบพบแพทย์ทันทีลดอัตรายการเสียชีวิต
นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงนี้ที่มีฝนตกสลับกับมีอากาศร้อน ทำให้โรคไข้เลือดออกระบาดได้มากกว่าปกติ เพราะยุงลายที่เป็นพาหนะนำโรคสามารถวางไข่ได้เร็วขึ้น และไข่เติบโตเป็นตัวแก่มีอายุสั้น ทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้เร็ว
จากข้อมูลของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่รับผิดชอบเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 5 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 199 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยพบมากคือ อายุระหว่าง 10-14 ปี
นายแพทย์ดนัยกล่าวต่ออีกว่า สำหรับสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค นอกจากยุงลายที่เป็นพาหนะนำโรคเติบโตได้เร็วกว่าปกติจากสภาพอากาศแปรปรวนแล้ว ยังเกิดจากมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ จำนวนมาก ทำให้ยุ่งลายสามารถใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ได้ดี จึงขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด แล้วปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะ มีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนปวดท้อง มักมีหน้าแดงและอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัวแขน ขา ระยะนี้ จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน
2. ระยะช็อก ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยมีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็วกรณีที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งระยะนี้ กินเวลา 24-48 ชั่วโมงและ 3. ระยะพักฟื้น อาการต่างๆ คล้ายจะดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงและช้า ปัสสาวะมากขึ้น อาจมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกตามลำตัว
โดยขณะนี้ยังไม่มีวิธีใช้รักษาโรคไข้เลือดออกได้โดยตรง การรักษามีเพียงรักษาตามอาการและเฝ้าระวังภาวะช็อก หากประชาชนหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้มีภาวะเสี่ยง มีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยในทันที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง