xs
xsm
sm
md
lg

สารพิษควันบุหรี่ ทำทารกในครรภ์ไอคิวต่ำ สติปัญญาบกพร่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต เผย คนไทยมีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ 6.5 แสนคน ชี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากแม่ตั้งครรภ์สูดควันจากบุหรี่ทั้งมือ 1 และ มือ 2 ระบุ พิษคาร์บอนมอนอกไซด์และนิโคติน ทำสมองเด็กผิดปกติ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เป็นแล้วรักษาไม่หายขาด

วันนี้ (31 พ.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช ประธานศูนย์การเรียนรู้พิเศษประภาคารปัญญา เปิดแพรคลุมป้าย “คลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก” ภายในศูนย์การเรียนรู้พิเศษประภาคารปัญญา มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กทม.

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีประชาชนทุกช่วงวัยที่มีสติปัญญาบกพร่อง มีระดับไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมากถึง 650,000 คนทั่วประเทศ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัยทั้งพันธุกรรม สมองกระทบกระเทือน ขาดธาตุเหล็ก ไอโอดีน และยังพบว่าเกิดมาจากการสูดควันบุหรี่ขณะมารดาตั้งครรภ์ ทั้งควันบุหรี่มือ 1 และควันบุหรี่มือ 2 สารในควันบุหรี่ที่มีผลกระทบกับเด็กในครรภ์มากที่สุด คือ สารคาร์บอนมอนอกไซด์และนิโคติน ทำให้หลอดเลือดหดตัวและขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงจากตัวแม่ไปยังลูกผ่านทางสายสะดือและรก ไม่เพียงพอด้วย จึงมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมองของเด็กผิดปกติ ทำให้สติปัญญาต่ำ ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการบำบัดและฟื้นฟู เพิ่มทักษะด้านต่างๆ ให้ผู้ที่มีบกพร่องดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมา ผู้มีสติปัญญาบกพร่องเข้าถึงระบบการดูแลรักษาฟื้นฟูประมาณร้อยละ 10 โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียนภาคบังคับ อายุ 5 - 15 ปี ยังอยู่นอกระบบการศึกษามากถึงร้อยละ 75 จึงขอให้ประชาชนที่มีลูกหลานมีพัฒนาการล่าช้า หรือมีสติปัญญาบกพร่อง พาไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทั่วประเทศหรือปรึกษาสายด่วน 1323 ฟรี เพื่อรับการตรวจประเมินความรุนแรงและขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการทางสติปัญญา ได้รับการช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยเร็ว” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า ผู้ที่สติปัญญาบกพร่อง มีความเสี่ยงเกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและอารมณ์ จิตใจ มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมสูงกว่าบุคคลทั่วไป จึงต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือในดำรงชีวิตอย่างใกล้ชิด และได้รับการช่วยเหลือด้านสวัสดิการทางสังคมจากภาครัฐ  สำหรับความร่วมมือในคลินิกกระตุ้นพัฒนาการครั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้พิเศษประภาคาร สนับสนุนด้านอุปกรณ์และสถานที่ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เน้นหนักในเด็กอายุ 5 - 15 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยสถาบันกัลยาณ์ฯ จัดทีมสหวิชาชีพนำโดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ตรวจประเมินอาการความรุนแรง ให้การรักษาอาการผิดปกติทางจิตใจ นักจิตวิทยาคลินิกตรวจประเมินระดับไอคิวและปรับพฤติกรรม พยาบาลวิชาชีพวางแผนจัดกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการรายบุคคลร่วมกับครูการศึกษาพิเศษ นักกิจกรรมบำบัดฝึกเตรียมความพร้อมการพูดและฝึกทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง นักกายภาพบำบัดกระตุ้นการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มกำลังและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกวัน ทบทวนแผนทุก 1 เดือน และประเมินความก้าวหน้าทุก 6 เดือน เพื่อปรับแผนการบำบัดฟื้นฟู โดยได้เริ่มทดลองดำเนินการในเดือนมกราคม  2561 -  เมษายน 2561 จำนวน 14 คน ได้ฟื้นฟูด้านกิจกรรมบำบัด 712 ครั้ง ด้านกายภาพบำบัด 693 ครั้ง กระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรม 715 ครั้ง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีเด็กสติปัญญาบกพร่องอยู่ในศูนย์การเรียนฯ 50 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น