กรมสุขภาพจิต เร่งพัฒนาแบบวัดไอคิวเด็กไทยอายุ 2 - 15 ปี เวอร์ชั่นใหม่ ให้ครู - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ใช้ติดตามแก้ปัญหาเด็กไอคิวต่ำ คาดประกาศใช้ปลายปี 2563 แนะเทคนิคพ่อแม่พัฒนาเด็ก 3 ขวบปีแรกให้มีไอคิวดี
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจระดับไอคิวนักเรียนชั้น ป.1 ปี 2559 จำนวน 23,641 คนทั่วประเทศ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98.23 จุด ส่วนเด็ก ป.1 ที่ไอคิวต่ำกว่าค่าปกติ 90 จุด มีถึงร้อยละ 37.61 หรือคาดว่า มีประมาณ 3 แสนกว่าคนทั่วประเทศ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดว่าไม่ควรมีเกินร้อยละ 25 ซึ่งในจำนวนนี้มีระดับไอคิวน้อยกว่า 70 จุดที่จัดอยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายสติปัญญาบกพร่องที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือทันทีอยู่ถึงร้อยละ 5.8 ทั้งนี้ กรมฯ ได้พัฒนาแบบทดสอบไอคิวของเด็กอายุ 2 - 15 ปี ให้ทันสมัย และใช้งานง่ายสำหรับบุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเฉพาะครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อใช้ติดตามและแก้ปัญหาเด็กไอคิวต่ำได้อย่างรวดเร็ว
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า การพัฒนาแบบประเมินไอคิวเด็กวัย 2 - 15 ปี เวอร์ชั่นใหม่นี้ ได้วิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมจากเครื่องมือชุดเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในเวลาที่จำกัด มีทั้งหมด 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ 2. ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจเชิงมิติสัมพันธ์ จากการมองเห็นและแสดงออกโดยการใช้กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว 3. ความสามารถในการประมวลผลความจำในการเห็นและการได้ยิน 4. ความสามารถในการรู้จัก เข้าใจความหมายและเหตุผลทางด้านภาษา การเรียนรู้ การสังเกตจากสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาโดยใช้ประสบการณ์ และ 5. ความสามารถในการแยกแยะและการจัดประเภทของสิ่งต่างๆ ทั้งนี้ จะทำการหาค่าเกณฑ์ปกติ (National norms) ของเด็กไทยอายุ 2 - 15 ปี ทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และ กทม. รวม 14 ช่วงอายุ ใช้กลุ่มตัวอย่างประมาณ 5,460 คน โดยใช้เวลาศึกษา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 - 2563 คาดว่า จะสามารถนำมาใช้กับเด็กไทยทั่วประเทศในปลายปี 2563
“พ่อแม่ทั้งมือเก่าและมือใหม่สามารถพัฒนาไอคิวของเด็กให้ดีขึ้นได้ในช่วง 3 ขวบแรก ด้วยเครื่องมือที่ลงทุนต่ำ โดยการเล่นกับลูกตามวัย และสามารถประยุกต์ใช้สิ่งรอบๆ ตัวเด็กในวิถีชีวิตมาช่วยส่งเสริมไอคิวของเด็กได้ เช่น 1. ฝึกให้เด็กถ่ายทอดจินตนาการ ด้วยหนังสือภาพหรือหนังสือนิทาน 2. ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต ด้วยการเดินเล่น 3. ฝึกให้เด็กคิดเชื่อมโยงด้วยการทำอาหาร และ 4. ฝึกการประสานงานของประสาทตากับมือ ด้วยการหยิบจับสิ่งของอันเป็นต้นทุนของการคิดมีเหตุผล” พญ.มธุรดา กล่าว