กรมสุขภาพจิตเตือน “ผู้ป่วยจิตเวช” เลี่ยงดื่มยาสมุนไพร เหตุมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ทำอาการกำเริบ นอนไม่หลับ หูแว่ว ประสาทหลอน จนต้องส่งห้องฉุกเฉิน เหตุออกฤทธิ์สมองโดยตรง ต้านยาที่แพทย์สั่ง เผยจังหวัดนครพนมพบสัปดาห์ละ 1 - 2 คน กำชับญาติช่วยกันเฝ้าระวัง หากจะใช้ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาจนอาการหายดีหรือทุเลาที่แพทย์ให้กลับไปอยู่บ้านแล้ว ญาติต้องนำกลับมารักษาที่ห้องฉุกเฉินซ้ำอีก เนื่องจากมีอาการกำเริบ เช่น ประสาทหลอน หูแว่ว เอะอะ ก้าวร้าว เป็นต้น พบสัปดาห์ละ 1 - 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดมาจากผู้ป่วยดื่มยาบำรุงร่างกายแผนโบราณ ซึ่งฉลากระบุว่ามีสมุนไพรหลายชนิดเป็นส่วนผสม ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นยาบำรุงร่างกายทั่วไป ดื่มแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง มีกำลังในการทำงานไม่เหนื่อย จึงได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ ประสาน อสม. ที่ผ่านการอบรมเป็น อสม. เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนจากกรมสุขภาพจิต เร่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยจิตเวชและญาติรวมทั้งประชาชนในพื้นที่ด้วย
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า ยาบำรุงร่างกายตามตำรับยาแผนโบราณเป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้จากการนำแอลกอฮอล์หรือเหล้ามาหมักกับสมุนไพรเพื่อสกัดเป็นตัวยา มีสรรพคุณตามฤทธิ์ของสมุนไพร เช่น บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต ช่วยเจริญอาหาร แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยยาแผนโบราณที่ผู้ป่วยจิตเวชนำมาดื่มและทำให้มีอาการกำเริบนั้น มีผลการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2558 พบมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในปริมาณที่สูงและไม่ได้แสดงปริมาณแอลกอฮอล์ไว้บนฉลากยาอย่างชัดเจน ระบุแต่เพียงชื่อสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ เช่น ม้ากระทืบโรง กำลังเสือโคร่ง เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยจิตเวชดื่มเข้าไปจึงเท่ากับดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มเหล้าเข้าไป ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นสมองผู้ป่วยโดยตรง มีผลต้านกับฤทธิ์ของยาที่แพทย์ใช้ในการควบคุมอาการ ทำให้การรักษาไม่ได้ผล แพทย์จึงห้ามผู้ป่วยโรคจิตเวชทุกโรคไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมทุกชนิดรวมทั้งยาดองเหล้าสมุนไพร และสารเสพติดอื่นๆที่เป็นสารกระตุ้นสมอง โดยเฉพาะยาบ้า
“หากผู้ป่วยจิตเวชต้องการจะใช้ยาสมุนไพรอื่นๆที่ไม่ได้รับการสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือแพทย์แผนไทยหรือซื้อมากินเอง ก่อนกินยาร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ขอให้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้หรือแพทย์แผนไทยที่โรงพยาบาลก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย และยาไม่ตีกัน ซึ่งจะทำให้การรักษาของแพทย์ได้ผลต่อเนื่อง” นพ.กิตต์กวี กล่าวและว่า ขอให้ญาติและประชาชนที่อยู่รอบข้าง ช่วยกันเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้สังเกตอาการของผู้ป่วย ซึ่งจะมีสัญญาณเตือนว่ามีอาการกำเริบแล้วคือผู้ป่วยจะนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีพฤติกรรมก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย มีความคิดแปลกๆ หวาดกลัว หากพบว่ามีอาการใดอาการหนึ่ง ขอให้รีบพาไปพบแพทย์