ผอ.รพ.จิตเวชเลยฯ ชี้ โอกาสป่วยจิตเวช “เพศหลากหลาย” ไม่ต่าง “เพศปกติ” เดินหน้าจัดระบบดูแลผู้ป่วยเพศหลากหลาย จัดเข้าหอผู้ป่วยตามเพศสภาพ แต่ต้องประเมินสภาพจิตใจก่อน เผยช่วยกินยา กินข้าว ร่วมมือรักษามากขึ้น
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นกลุ่มเพศหลากหลายมากขึ้น โดยที่ รพ.จิตเวชเลยฯ พบผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน ในปี 2560 ร้อยละ 6 ของผู้ป่วยทั้งหมด ทุกรายเป็นผู้ป่วยใหม่ จึงคาดว่าทั่วประเทศจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสังคมไทยยังให้ความสำคัญกับความเป็นชายและความเป็นหญิง จนมองข้ามในความหลากหลายเพศ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเพศทางเลือกถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ประกอบกับมีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความไวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบกระเทือนด้านจิตใจ จะยิ่งทำให้มีอาการยุ่งยากซับซ้อนกว่าผู้ป่วยทั่วไป กรมฯ จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง จัดระบบบริการผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยให้จัดทีมสหวิชาชีพให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจต่อการให้บริการ มุ่งเน้นให้การดูแลตามวิถีการดำเนินชีวิตแบบที่เขาเป็น หรือตามไลฟ์สไตล์ คำนึงถึงความเสมอภาคและศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความปลอดภัย
นพ.อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผอ.รพ.จิตเวชเลยฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่มารักษามีหลายโรค ทั้งโรคจิตเภท ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด ซึ่งเมื่อดูข้อมูลแล้วพบว่าผู้ป่วยทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มเพศหลากหลายจำนวนร้อยละ 6 แต่ยังไม่มีการแยกข้อมูลว่าเป็นโรคไหนมากกว่ากัน สำหรับสาเหตุของการป่วยโรคจิตเวชต่างๆ ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไม่ได้แตกต่างจากเพศปกติ คือมีโอกสเกิดโรคทางจิตเวชเท่าๆ กัน แต่สำคัญตรงเรื่องของการบำบัดรักษา ถ้าเราจัดให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่รู้สึกสะดวกและสบายใจ ก็จะส่งผลดีต่อการรักษาและให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น อย่างแผนกผู้ป่วยนอก จะส่งพบบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการเช่น กรณีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีจิตใจเป็นหญิงจะส่งพบบุคลากรที่เป็นผู้หญิง เป็นต้น หรือหากต้องเป็นผู้ป่วยใน หากผู้ป่วยแปลงเพศแล้วจะส่งผู้ป่วยเข้าตึกผู้ป่วยที่ตรงตามความต้องการและให้บริการเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายอื่นที่อยู่ในตึกเดียวกัน ส่วนกรณียังไม่แปลงเพศ ก็จะมีทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา พิจารณาร่วมลงความเห็น ซึ่งจะมีการประเมินอย่างละเอียดว่าควรเข้าไปเป็นผู้ป่วยในในหอผู้ป่วยชายหรือหญิง
“ที่ผ่านมา จะพบว่าหากเป็นกลุ่มเลดี้บอย หากต้องไปอยู่ในหอผู้ป่วยผู้ชายเขาก็จะกลัว เพราะมีแต่ผู้ชายทั้งนั้น กลัวว่าจะถูกแกล้ง เขาก็จะไม่ค่อยสบายใจ ก็เคยมีที่มาบ่นว่ากังวล นอนไม่ค่อยหลับ กลัวคนไข้ผู้ชาย เป็นต้น แต่เมื่อมาอยู่หอผู้ป่วยหญิงช่วยให้สบายใจ กินยา ให้ร่วมมือมากขึ้น นอนหลับสบาย กินข้าวอร่อย แต่ยังไม่ได้เก็บเป็นข้อมูลเชิงวิจัย ซึ่งการให้บริการดังกล่าวถือเป็นการรักษาฟื้นฟูแบบเคารพสิทธิของเขา เมื่อมีจิตใจที่ไม่ตรงกับเพศเราก็เอื้อตรงนี้ โดยการให้บริการดังกล่าวเริ่มมีการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2560 และเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา” นพ.อาทิตย์ กล่าว
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีวอร์ดหรือหอพักผู้ป่วยแยกเฉพาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในอนาคตหรือไม่ นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า ตรงนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องจิตใจด้วย เพราะหากมีการจัดวอร์ดหรือหอพักผู้ป่วยแยกไปเลยนั้น เขาอาจจะมองว่าเขาเป็นคนแปลกแยกหรือไม่ ถึงต้องมาจัดเฉพาะต่างหาก อย่างเลดี้บอยบางคนเขาก็รู้สึกว่าเป็นผู้หญิง ก็ควรได้รับบริการอย่างผู้หญิง ซึ่งหากมาจัดบริการแยกออกไปต่างหาก เขาก็จะรู้สึกแปลกแยก ไม่สบายใจ ก็จะส่งผลต่อความร่วมมือในการบำบัดรักษาได้