xs
xsm
sm
md
lg

จะต้องเปลี่ยนวิธีสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกกี่ครั้ง !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
และแล้วสิ่งที่คาดไว้ก็เกิดขึ้น !
ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ที่เริ่มเป็นปีแรกในปีนี้ที่เรียกว่า TCAS (Thai University Central Admission System) สร้างความโกลาหลเสียแล้ว
ยังจำได้ดีว่าเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือทปอ. ได้ประกาศแจ้งเปลี่ยนวิธีสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมากว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น เด็กนักเรียนต้องผ่านการสอบหลายครั้ง ทั้งการสอบข้อสอบกลางอย่าง GAT-PAT, 9 วิชาสามัญ และ O-Net ที่จัดตลอดทั้งปี อีกทั้งบางมหาวิทยาลัยก็มีการจัดสอบตรงของตนเอง และมีการรับที่หลายรอบเกินไป ทำให้เกิดการวิ่งรอกสอบและกันที่เกิดขึ้น รวมทั้งเงินค่าสมัครและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เสียซ้ำซ้อนและมากเกินไป คนที่มีเงินก็มีโอกาสมากกว่ามาโดยตลอด
นอกจากนั้น การสอบและการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ที่มีตลอดปี จึงทำให้การเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนแต่ละคนทำได้อย่างไม่เต็มที่ คุณครูก็ต้องเร่งสอนเพื่อให้ทันการสอบ เหมือนเป็นปีแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าการเรียนหนังสือเลยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเกิดระบบ TCAS ขึ้นมา
TCAS เป็นระบบกลางที่ได้รับการออกแบบมาโดยมีเป้าหมายสวยหรู เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ลดการเดินทางสอบ ลดการได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบและอื่น ๆ ลดช่องทางการเสียโอกาสในการสอบติดหลายที่แล้วไม่เรียน และให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาในชีวิตมัธยมศึกษาให้มากที่สุด การสอบทั้งหมดจึงจะเริ่มหลังจากที่เรียนจบ ม. 6 แล้ว
โดยระบบใหม่กำหนดให้ทุกคนมีเพียง 1 สิทธิ์อย่างเท่าเทียม เมื่อมีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อ ต้องยืนยันสิทธิ์ และจะถูกตัดรายชื่อออกจากระบบทันที พร้อมกับข้อกำหนดในการให้นักเรียนอยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 รอบ ดังนี้
รอบที่ 1 โควตาใช้ Portfolio ไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา
รอบที่ 2 การรับตรง/โควตา มีการสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ หรือภาคโควตาโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ
รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนทั้งในโครงการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีลำดับ
รอบที่ 4 การรับแบบ Admissions สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ
รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ สถาบันอุดมศึกษาเปิดรับตรงเพิ่มเติมได้เองอิสระ
และเมื่อถึงวันจริงและมีการประกาศผลสอบแล้ว..ดูเหมือนจะไม่เป็นไปดั่งที่ได้ออกแบบไว้ เมื่อปฏิบัติจริง !
รอบ 1 รอบ 2 ไม่มีปัญหา แต่หลังจากมีการประกาศผลรอบ 3 ปัญหาก็ตีแผ่ออกมาเรื่อย ๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองเริ่มออกมาโวย เด็กนักเรียนเริ่มเครียดที่ยังไม่มีที่เรียน
ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้มิใช่ไม่มีใครเตือนมาก่อน มีหลายฝ่ายการออกมาติติงและเตือนว่าต้องเกิดปัญหาแน่ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งวันเวลาล่วงเลยมาถึงการประกาศผล และปัญหาก็ทะยอยผุดออกมาเรื่อย ๆ
สำหรับเด็กเรียนเก่งไม่มีปัญหา เพราะสามารถสอบติดรอบ 3 ได้ และยังสอบติดได้ทั้ง 4 ลำดับด้วย ประเด็นก็คือ เมื่อสอบติดทั้ง 4 ลำดับ แต่ต้องใช้สิทธิ์เลือกเพียงลำดับเดียว ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนก็ต้องเลือกคณะในฝันที่คิดว่าคะแนนสูงสุดและเป็นที่นิยม แล้วสละสิทธิ์ 3 ลำดับที่ได้ทิ้งไป
ยกตัวอย่าง นายเอก สอบติดคณะแพทยศาสตร์จุฬา และอีก 3 คณะ คือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬา, คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา และคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. สุดท้ายนายเอกก็เลือกคณะแพทยศาสตร์จุฬา ทำให้สิทธิ์ของนายเอกอีก 3 คณะก็กลายเป็นที่ว่างทันที
ประเด็นคือ คณะทั้ง 3 คณะที่เหลือก็จะเป็นที่ว่าง ในขณะที่เด็กที่สอบไม่ติดเพราะคะแนนไม่ถึง ก็ไม่สามารถเป็นตัวสำรองใช้คะแนนเดิมได้อีก ต้องรอรอบที่ 4 คือ แอดมิดชั่น ผลก็คือทำให้คณะในมหาวิทยาลัยก็รับเด็กไม่ได้ตามจำนวนเป้าหมาย และนักเรียนส่วนใหญ่ต้องเคว้งหาที่เรียนไม่ได้ แล้วไปเริ่มเตรียมตัวสอบแอดมิดชั่นใหม่
แล้วกรณีแบบนี้ก็มีจำนวนมาก
ทปอ.ก็อาจบอกง่าย ๆ ว่าก็ให้รอรอบต่อไปสิ มีโอกาสให้อีกตั้ง 2 รอบ ก็แล้วทำไมไม่มีระบบตัวสำรองเพื่อให้เด็กที่มีคะแนนลดหลั่นลงมา ได้มีโอกาสติดในคณะที่เลือกและมีคนสละสิทธิ์ล่ะ
รับประกันว่าเด็กปีนี้จำนวนมากจะเกิดมหกรรมเข้าคณะที่ตัวเองต้องการเรียนจริงๆ ไม่ได้ ต้องไปเรียนคณะที่ตัวเองไม่ต้องการ สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาเด็กซิ่วในปีหน้าอีก
ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ต่างพร่ำบอกให้เด็กเลือกเรียนคณะที่ตัวเองชอบ และถนัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เมื่อเรียนจบไป จะได้ทำงานที่ตัวเองถนัดและชอบ แต่สุดท้ายไม่เป็นเยี่ยงนั้น
กลายเป็นว่าที่ต้องเปลี่ยนระบบเพื่อแก้ปัญหาเรื่องแอดมิดชั่นในปีก่อนๆ กลับต้องมาสร้างปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนเข้าไปอีกในปีนี้
ลองคิดดูว่ามันจะอลหม่านขนาดไหน เมื่อเด็กเรียนจบมัธยมปลายจำนวนมากยังหาที่เรียนต่อไม่ได้ และไม่สามารถเรียนในคณะที่ตัวเองต้องการได้จริงๆ
สุดท้ายทปอ.ก็จะออกมาบอกว่าจะหาทางปรับปรุงระบบในปีหน้า
เราอยู่กับวิธีคิดของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของเด็กนักเรียน ที่แก้ปัญหาแบบลิงแก้แหมาอย่างยาวนานแล้ว และเด็กก็เป็นผู้รับกรรมมาโดยตลอด
อยากบอกพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ลูกกำลังเผชิญชะตากรรมนี้อยู่ว่า โปรดอย่าตำหนิลูกของคุณเลยที่สอบไม่ติดในห้วงเวลานี้ ตราบใดที่ระบบยังเป็นเยี่ยงนี้ ลูกของคุณต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อของระบบ !


กำลังโหลดความคิดเห็น