กรมวิทย์สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ “สาหร่ายทะเล” ที่ผลิตในประเทศ พบสารหนูอนินทรีย์ตกค้างร้อยละ 4 แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ส่วนที่ผลิตในต่างประเทศพบถึงร้อยละ 17 แต่ไม่เกินมาตรฐานเช่นกัน
วันนี้ (18 พ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคสาหร่ายทะเลกันมาก ไม่ว่าจะในรูปแบบของขนมขบเคี้ยว สาหร่ายห่อข้าวปั้น สาหร่ายผงโรยบนข้าวหน้าต่างๆ โดยสาหร่ายทะเล (seaweed) นั้น เป็นวัตถุดิบที่มีสารอาหารและแร่ธาตุสูง เช่น มีสารไอโอดีน ช่วยในการป้องกันโรคคอหอยพอกได้ มีโปรตีน แคลเซียม เหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม โพแทสเซียม และมีใยอาหารสูง แต่ในทางกลับกันสาหร่ายทะเลก็มีโอกาสปนเปื้อนโลหะหนักสูง เช่น แคดเมียม และ สารหนู (arsenic) โดยเฉพาะสารหนูนั้นจะตรวจพบในปริมาณมาก ถ้าหากตรวจวิเคราะห์ในรูปของสารหนูทั้งหมด (total arsenic) เนื่องจากสารหนูในอาหารมีหลายสปีชีส์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สารหนูอินทรีย์ (organic arsenic) และ สารหนูอนินทรีย์ (inorganic arsenic) ทั้งนี้สารหนูอินทรีย์นั้นจะมีความเป็นพิษต่ำกว่าสารหนูอนินทรีย์ ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดปริมาณสารหนูอนินทรีย์สำหรับสัตว์น้ำและอาหารทะเล จะต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 273 (พ.ศ. 2546) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน (ฉบับที่ 2)
นพ.สุขุม กล่าวว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ ได้ให้บริการตรวจวิเคราะห์สารหนูอนินทรีย์ในอาหาร ผลการตรวจวิเคราะห์ในปีงบประมาณ 2558 - 2560 ปรากฏว่า สาหร่ายและผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่ผลิตในประเทศ 475 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ไม่พบสารหนูอนินทรีย์ และตรวจพบสารหนูอนินทรีย์เพียงร้อยละ 4 และปริมาณที่ตรวจพบทั้งหมดยังปลอดภัย เพราะอยู่ในช่วงน้อยกว่า 0.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังตรวจสาหร่ายที่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน เกาหลี สิงคโปร์ สเปน ส่งตรวจจำนวน 78 ตัวอย่าง ตรวจพบสารหนูอนินทรีย์ร้อยละ 17 ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในช่วง 0.25 - 0.39 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
“ในการตรวจได้ใช้เทคนิควิเคราะห์ลิควิดโครมาโทกราฟี ร่วมกับ การวิเคราะห์ธาตุ โดยหลักการของอะตอมมิกสเปกโทรสโกปี โดยใช้เครื่องมือ HPLC-ICP-MS สามารถตรวจวัดเชิงปริมาณต่ำสุดได้ที่ระดับ 0.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าสาหร่ายในประเทศไทยนั้นมีความปลอดภัยจากสารหนูอนินทรีย์ และพบการปนเปื้อนในระดับต่ำกว่าต่างประเทศ จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ แต่อย่างไรก็ดีควรบริโภคสาหร่ายอย่างเหมาะสม เนื่องจากการนำสาหร่ายมาปรุงรสทำให้มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคไต ไม่ควรบริโภคในปริมาณมากหรือบริโภคบ่อยจนเกินไป” นพ.สุขุม กล่าว