เอเอฟพี - ทางการเวียดนามสั่งปรับเงินสื่อหลายสำนักจากการเผยแพร่ข่าวที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกี่ยวกับน้ำปลาเป็นพิษ โดยกล่าวหาว่า ข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปนั้นสร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนต่อเครื่องปรุงรสสำคัญของประเทศ
รายงานเกี่ยวกับน้ำปลาปรากฏขึ้นช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ระบุว่า น้ำปลาบางส่วนปนเปื้อนสารหนูในระดับสูง และสื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังอ้างผลสำรวจของสมาคมผู้บริโภคและมาตรฐานเวียดนาม (Vinastas) ที่รัฐควบคุม
รายงานเหล่านี้จุดชนวนความหวาดกลัวไปอย่างกว้างขวางในเวียดนาม ที่ประชาชนล้วนบริโภคน้ำปลากันเป็นประจำ ทั้งใช้เป็นน้ำจิ้ม ปรุงรส หรือใช้หมักอาหาร
รัฐบาลระบุวานนี้ (21) ว่า รายงานต่างๆ ล้มเหลวที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสารหนูอนินทรีย์ที่เป็นพิษสูง กับสารหนูอินทรีย์ ที่มักพบอยู่ในอาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่ มีความเป็นพิษไม่มาก
“ข่าวที่ปรากฏขึ้นนั้นสร้างความหวาดกลัวแตกตื่นในสังคมของเรา ส่งผลให้ผู้บริโภคคว่ำบาตรน้ำปลาแบบดั้งเดิม บ่อนทำลายการผลิตน้ำปลาเก่าแก่ของประเทศ” กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารของเวียดนาม กล่าว
น้ำปลาแบบดั้งเดิมผลิตขึ้นจากการหมักปลา ขณะที่น้ำปลาสมัยใหม่ผลิตขึ้นด้วยวัตถุปรุงแต่งกลิ่นสังเคราะห์ ซึ่งการสำรวจระบุว่า น้ำปลาที่ผลิตแบบดั้งเดิมนั้นเป็นพิษ
กระทรวงสั่งปรับเงินองค์กรข่าวทั้งหมด 50 แห่ง ที่รายงานข่าวดังกล่าว รวมทั้งหนังสือพิมพ์แถ่งเนียน ที่ถูกปรับเงินเป็นจำนวนถึง 9,000 ดอลลาร์ และเหตุที่หนังสือพิมพ์แถ่งเนียน ถูกโทษปรับสูงสุดเนื่องจากรายงานการสำรวจที่จัดทำขึ้นเองร่วมด้วย ซึ่งกระทรวงระบุว่า เป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บ่อนทำลายผลประโยชน์ชาติ
ส่วนองค์กรข่าวรายอื่นๆ ถูกปรับเงินระหว่าง 450-2,200 ดอลลาร์ โดยกระทรวงระบุว่า มีข่าวทั้งหมด 560 ชิ้น ที่ถูกเผยแพร่ออกไป
ในเวลาต่อมา รายงานเหล่านี้ถูกประกาศว่าผิดพลาด หลังจากกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสืบสวน และได้ข้อสรุปว่า น้ำปลามีความปลอดภัย
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ความหวาดกลัวต่ออาหารที่เกิดขึ้นครั้งแรกในเวียดนาม โดยเมื่อเดือน เม.ย. เกิดเหตุปลาตายจำนวนหลายตัน ถูกคลื่นซัดเกยตื้นตามชายหาดในภาคกลางของประเทศ ที่กล่าวโทษว่า มีสาเหตุจากการปล่อยสารพิษลงทะเลโดยบริษัทเหล็กของไต้หวัน ซึ่งสร้างความวิตกในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเลนั้นจะปลอดภัยเพียงพอที่จะกินได้หรือไม่ และเมื่อต้นปี ยังมีคลิปวิดีโอพนักงานโรงงานในประเทศ ฉีดกุ้งด้วยสารบางอย่างที่ทำให้กุ้งดูอวบอ้วนขึ้น ได้แพร่สะพัดบนโลกออนไลน์ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน.