สธ. เตรียมประชุม ผอ.รพ. ติดตามปัญหา “ลูกจ้าง” ได้รับค่าจ้างน้อย ด้านสภาองค์การลูกจ้างฯ ห่วงกลุ่ม “ลูกจ้างเหมาทำของ” มีทุกกระทรวง รวม 4 - 5 แสนคน ได้ค่าแรงตามกฎหมาย แต่ไร้สิทธิสวัสดิการ ไม่เข้าเกณฑ์ร่าง พ.ร.บ. เงินทดแทน ฉบับใหม่ เล็งยื่นนายกฯ แก้ปัญหาแบบภาพรวม สปส. เสนอเป็นผู้ประกันตน ม.40 แทน
วันนี้ (17 พ.ค.) นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีปัญหาลูกจ้างออกมาเรียกร้องได้รับค่าจ้างน้อย ว่า เบื้องต้นจากการสอบถามพบว่า กลุ่มที่ได้ค่าจ้างน้อย เป็นการจ้างรายวัน จะได้ 21 วัน เพราะไม่รวมเสาร์อาทิตย์ จะได้ประมาณ 6,300 บาทต่อเดือน แต่พนักงานกระทรวงสาธารณสุขมีได้ค่าจ้างน้อยหรือไม่อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล ซึ่งบางกรณีเป็นการจ้างตามวุฒิการศึกษาที่รับสมัคร แต่บางคนไปปรับวุฒิมาจะขอเพิ่มเงินตามวุฒิศึกษา ก็ค่อนข้างยาก เพราะรูปแบบงานเหมือนเดิม ซึ่งก็ต้องไปดูรายละเอียดอีก ซึ่งในการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 18 พ.ค. นี้ จะมีการเชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อสอบถามรายละเอียดว่า มี รพ.ไหนมีปัญหาในการจ้างลูกจ้างชั่วคราว หรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข
นพ.เจษฎา กล่าวว่า ส่วนการจ้างเหมาเป็นอีกกรณี เพราะถือเป็นงานจ๊อบ เช่น การทำวิจัยก็จ้างให้คนเก็บข้อมูล แต่เราก็ไม่รู้ว่าไปเขียนโครงการอย่างไร ตรงนี้จะตรวจสอบด้วยทั้งหมด และต่อไปนี้เวลาจะจ้างอะไรก็ต้องผ่าน นพ.สสจ.ให้พิจารณาอีกรอบ ซึ่งในการจ้างก็จะมีกรอบการจ้างงานอยู่ จะจ้างเกินกรอบไม่ได้ เราจะให้แค่ 80% ของกรอบแต่ละโรงพยาบาล และหลังจากนั้น หากพบว่างานมากจริงๆ ก็จะให้ถึง 100% แต่หากยังไม่พออีกก็จะพิจารณาเป็น รพ. ไปว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร
ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มสัญญาจ้างเหมาทำของ มีกระจายตามกระทรวงต่างๆ ทุกกระทรวง ไม่ใช่แค่ สธ. มีประมาณ 4 - 5 แสนคน ส่วนใหญ่จะพบได้ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาดบางกลุ่ม แม่บ้าน ธุรการ คนเดินเอกสารต่างๆ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้แม้จะได้รับเงินค่จ้างตามเกณฑ์กฎหมายแรงงาน เช่น ถูกจ้างงานเฉลี่ยเดือนละ 8,600 บาท บวกค่าครองชีพ 1,200 บาท เป็น 9,800 บาทต่อเดือน แต่สิทธิสวัสดิการอื่นๆ ไม่ได้รับเลย สิทธิรักษาพยาบาลต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เพราะไม่มีการจ่ายประกันสังคม ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ. เงินทดแทน ฉบับใหม่ ซึ่งจะให้สิทธิสวัสดิการเงินทดแทนการขาดรายได้ หรือการประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วยจากการทำงาน หากพิการหรือทุพพลภาพก็จะได้รับเงินช่วยเหลือไปตลอด จะครอบคลุมแค่ลูกจ้างส่วนราชการและเอกชน เพราะพิจารณารายละเอียดแล้วอาจไม่รวมลูกจ้างเหมากลุ่มนี้อีก
“เมื่อปี 2556 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งออกมาว่า ลูกจ้างเหมาบริการถือเป็นลูกจ้างด้วย ควรต้องเข้าประกันสังคม แต่จากร่าง พ.ร.บ. เงินทดแทนฉบับใหม่ กลับไม่ครอบคลุมลูกจ้างกลุ่มนี้ ซึ่งจากที่เคยหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่า การจ้างงานเช่นนี้เป็นการนำเงินหมวดวัสดุมาจ้างคนให้ทำงาน และมีสัญญาจ้างระบุว่า เป็นการทำของอิงจากการนำเงินหมวดวัสดุ ทำให้ต้องตีความว่า เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างคนทำงาน เครือข่ายฯ จึงห่วงว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่ จะครอบคลุมลูกจ้างส่วนราชการที่จะเข้าใหม่เพียง 9.4 แสนคน แต่อีก 4 - 5 แสนคน ที่เป็นลูกจ้างส่วนราชการด้วย แต่เป็นการจ้างคนละประเภทก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากจุดนี้” นายมนัส กล่าวและว่า ขณะนี้ภาคีเครือข่ายฯ กำลังจะหารือร่วมกันว่า จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร ทั้งการจ้างงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หรือเรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ต้องออกมาเป็นนโยบาย และเดินหน้าเป็นกฎหมาย โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่มีนายจ้าง เพราะถือเป็นการจ้างงาน แต่กรณีการจ้างทำของต้องดูในสัญญา เนื่องจากการจ้างทำของ จะกำหนดชัดเจนว่าทำอะไร เมื่อไร เช่น กวาดถูทำความสะอาดในบริเวณหนึ่ง หากเสร็จก็เป็นอันจบ ไม่มีการบังคับบัญชาเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาอาจมีบางแห่งมีการจ้างผิดไป ซึ่งตรงนี้ลูกจ้างที่มองว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนและฟ้องต่อศาลแรงงานได้ เนื่องจากถือว่าขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินทดแทนฯ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหากผ่านตามขั้นตอนต่างๆ คาดว่า ภายในปีนี้น่าจะประกาศใช้ได้ ส่วนแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างเหมาดังกล่าว มีแนวทางช่วยเหลือ คือ มาตรา 40 พ.ร.บ. ประกันสังคม ซึ่งให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเอง ซึ่งมีหลายทางเลือกในการจ่าย ก็จะได้รับเงินทดแทนหากหยุดงานเพราะเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุมีใบรับรองแพทย์ วันละ 300 บาท มีเงินสงเคราะห์บุตร เงินทดแทนทุพพลภาพ ค่าทำศพ เป็นต้น