xs
xsm
sm
md
lg

หอศิลป์ฯ เตรียมเบิกงบใหม่ หลังเคลียร์ใจกันดี ชี้ กทม.ต้องหนุน เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ปีหน้าขออีก 52 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หอศิลป์ฯ เตรียมเบิกงบจาก กทม. ใหม่ หลังเคลียร์ใจกันดี เชื่อไร้ปัญหาของบปี 62 อีก 52 ล้านบาท ยัน กทม. ต้องหนุนงบตามหลักสากล แม้สัญญาไม่ระบุ เหตุเป็นเจ้าของอาคาร รายได้จากค่าเช่าไม่มากพอกับรายจ่าย แค่ค่า รปภ. แม่บ้าน ตกเดือนละกว่า 1 ล้านบาท เล็งขึ้นค่าเช่าภาคเอกชน ยันทำแผนและรายงานผลให้ กทม. ตลอด

จากกรณี สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่อนุมัติงบสนับสนุนในปีงบประมาณ 2561 กว่า 40 ล้านบาท ให้แก่มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมูลนิธิหอศิลป์ฯ ไม่ได้เป็นหน่วยงานของ กทม. และอาจขัดมาตรา 96 พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ขณะที่สัญญาให้สิทธิมูลนิธิฯ บริหารไม่มีข้อกำหนดให้ กทม.ต้องสนับสนุนงบประมาณ แต่มูลนิธิฯ ควรบริหารด้วยตนเอง และจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ กทม.

วันนี้ (17 พ.ค.) ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า งบประมาณปี 2561 กว่า 40 ล้านบาท ที่หอศิลป์ฯ เคยขอสภา กทม. ไป และไม่ได้รับการอนุมัติ จริงๆ มีการแปรญัตติให้งบดังกล่าวมาอยู่ที่สำนักวัฒนธรรมฯ แล้ว แต่ที่ผ่านมาสำนักวัฒนธรรมฯ ไม่ได้เบิกจ่ายให้ตามที่เราขอ เนื่องจากมีข้อท้วงว่าติดปัญหาเรื่องขัดระเบียบมาตรา 96 หรือไม่ แต่จากการที่ตนเข้าไปหารือกับทางสำนักวัฒนธรรมฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้ทุกฝ่ายก็เข้าใจกันดีแล้ว เนื่องจากมีรายงานการประชุมของคณะกรรมการด้านงบประมาณของ กทม. ตั้งแต่ปี 2551 ที่ปรึกษากับสำนักกฎหมายบอกชัดว่า การที่มูลนิธิฯ ดำเนินการในรูปแบบนี้ไม่ขัดกับมาตรา 96 แต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจกันแล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหากับการเบิกงบประมาณมาบริหารจัดการหอศิลป์ฯ โดยในปี 2561 ยังเหลือการจัดงานอีกหลายโครงการ ที่เป็นกิจกรรมก็ประมาณกว่า 9 ล้านบาท ส่วนก่อนหน้านี้ก็อาศัยรายได้ที่มีมาบริหารจัดการไปก่อน

“เดิมเราเคยได้งบประมาณมาเป็นก้อนใหญ่ และบริหารงานตามงบที่ตั้งไป ส่วนตอนนี้งบเป็นก้อนใหญ่ แต่ไปอยู่ที่สำนักวัฒนธรรมฯ เราก็ต้องของบเป็นโครงการๆ ไป ก็อาจจะเสียเวลามากขึ้น แต่ก็ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการด้านงบประมาณ ซึ่งมีรองปลัด กทม.เป็นประธาน ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดเรื่องของบประมาณสนับสนุนในปี 2562 ประมาณ 52 ล้านบาท ซึ่งหาก กทม.มีความเข้าใจกันดีแล้ว ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาในการอนุมัติงบประมาณในปีหน้า ซึ่งคาดว่าต้องให้สภา กทม. พิจารณา” ผศ.ปวิตร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีสัญญาไม่มีการระบุว่า กทม.ต้องสนับสนุนงบประมาณ ผศ.ปวิตร กล่าวว่า แม้สัญญาไม่มีระบุ แต่โดยหลักการแล้วหอศิลป์ฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ กทม. แม้จะให้สิทธิมูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารจัดการ แต่จะให้มูลนิธิฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ในพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม แม้จะเปิดให้มูลนิธิฯ มีการทำเชิงพาณิชย์ในบางส่วนได้ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากหอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก ต้องใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด และช่างต่างๆ จำนวนมาก อีกทั้งมีค่าบำรุงรักษาอาคารอีก เพราะอาคารก็ 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งแต่ละเดือนแค่ค่าใช้จ่ายพนักงานรักษาความปลอดภัยและพนักงานทำความสะอาดก็ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทแล้ว

ผศ.ปวิตร กล่าวว่า ขณะที่การหารายได้ของหอศิลป์ฯ อย่างค่าเช่าแผงหรือร้านอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ถือว่าถูกกว่าห้างละแวกนี้มาก หรือห้องประชุมต่างๆ หากเป็นสถาบันการศึกษามาขอจัดก็อยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท ก็ราคาถูกกว่าห้องประชุมขนาดพอๆ กันในทำเลแถบนี้เช่นกัน แม้จะเป็นเอกชนมาขอจัด ราคาก็สูงกว่านี้ไม่มาก ประมาณ 24,000 บาท ก็มีการหารือว่าอาจจะมีการปรับเพิ่มราคาสำหรับเอกชน เพราะเขามีเงินมาก ก็เพื่อให้เรามีเงินทำงานได้มากขึ้น

“กทม. ในฐานะเจ้าของอาคาร เหมือนคุณเป็นเจ้าของบ้าน ก็ต้องมีส่วนในการช่วยดูแลค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างต่างๆ ตรงนี้ด้วย จึงควรมีการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งตามหลักสากลเขาก็เป็นเช่นนี้ โดยโมเดลการทำงานร่วมกันล้วนมีในประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่ศิลปวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรือง ตัวเลขเงินจากภาครัฐให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ อย่างตอนนี้อัตราส่วนระหว่างเงินจาก กทม.กับเงินที่เราหาเอง อัตราอยู่ที่ 60 : 40 แต่ของต่างประเทศอย่างสิงคโปร์จะเป็น 70 : 30 หรือบางประเทศเป็น 80 : 20 เพราะมันเป็นการลงทุน ซึ่งผลที่ได้ตอบแทนมาก็คุ้มค่า อย่างปี 2560 มีผู้เข้าชมหอศิลป์ฯ ถึง 1.7 ล้านคน จากงบสนับสนุน 45 ล้านบาท หากเทียบกันต่อหัวแล้วก็ถือว่าเกิดประโยชน์” ผศ.ปวิตร กล่าว

ผศ.ปวิตร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ที่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่ กทม. ไม่ค่อยได้มาสัมผัสกับหอศิลป์ฯ จึงไม่เข้าใจว่าหอศิลป์ฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ กทม. ที่ต้องเข้ามาสนับสนุนดูแล เพราะจริงๆ การทำงานของมูลนิธิฯ ก็คือการทำงานให้ กทม. ถ้ามาแบ่งว่าอันนี้งานของ กทม. อันนี้งานของมูลนิธิฯ มันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่หากเข้าใจตรงกันว่าทุกอย่างคืองานของ กทม .ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าใครทำ ก็จะทำให้เข้าใจกันได้ดีขึ้น

เมื่อถามถึงแผนบริหารจัดการหอศิลป์ฯ และแผนงบประมาณต่างๆ มีการเสนอต่อ กทม. ทุกปีหรือไม่ ผศ.ปวิตร กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีการส่งแผนต่างๆ เหล่านี้ให้ทาง กทม. ทุกปีก่อนของบประมาณว่าในปีนี้เราจะมีการทำอะไรบ้าง จัดกิจกรรมหรือนิทรรศการอะไรบ้าง งบประมาณเป็นอย่างไร หนังสือที่ของบประมาณก็จะมีรายละเอียดทุกอย่าง และที่สำคัญมีรายงานผลการปฏิบัติงานของหอศิลป์ฯ ส่งถึงผู้ว่าฯ กทม. ทุกเดือนว่า เดือนนี้มีการจัดกิจกรรมอะไร มียอดผู้เข้าชมเท่าไร รายรับรายจ่ายเป็นอย่างไร เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการพัฒนาให้หอศิลป์ฯ เป็นมากกว่าการแสดงศิลปะ เป็นพื้นที่รองรับการศึกษาของคนทุกกลุ่มวัย จะต้องมีการปรับแผนบริหารงานหรือไม่ ผศ.ปวิตร กล่าวว่า จริงๆ หอศิลป์ฯ ถือเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาอยู่แล้ว เพราะตนก็เป็นอาจารย์ ให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่คนมักมองว่าเป็นพื้นที่ของกลุ่มศิลปิน ซึ่งจากข้อมูลผู้เข้ามาใช้งานแล้วพบว่า กว่า 35% เป็นนักเรียนนักศึกษา แต่ไม่ได้เข้ามานั่งโต๊ะแล้วติวหนังสือกัน แบบ Co Working Space ทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่จะมาร่วมกิจกรรม รับชมงานศิลปะ ทั้งละครเวที อ่านบทกวี เล่านิทาน เอางานมาทำในห้องสมุด ซึ่งห้องสมุดก็มีพื้นที่มากกว่า 100 ที่นั่ง มีไวไฟฟรี น้ำดื่มฟรี เราเป็น Co Working Space อยู่แล้ว ทำไมต้องหาโต๊ะหรือเก้าอี้อีก เพียงแต่ลักษณะของการมาศึกษาในหอศิลป์ฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเดินท่องศึกษา เป็นรูปแบบที่วัยรุ่นเรียกว่า มาเดินชิลๆ ก็ได้รับความรู้ คงไม่ใช่รูปแบบการนั่งเก้าอี้เสมอไป


กำลังโหลดความคิดเห็น