“จุมพล อภิสุข” เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมศิลปวัฒนธรรม ยื่นหนังสือถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ระงับ กทม. ยึดคืนหอศิลป์ กทม. อ้างอิงผิดปฏิญญา MOU ด้านศิลป์ฯ พร้อมแนบผลดำเนินงานหอศิลป์ ส่งนายกฯ
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุมพล อภิสุข เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมศิลปวัฒนธรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อให้มีคำสั่งระงับ กรณี กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะยึดคืน หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน โดย นายจุมพล ระบุว่า เนื่องด้วยมีการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อสื่อมวลชน เรื่องจะยึดคืนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อมาบริหารจัดการเอง โดยอ้างสาเหตุเพราะการบริหารงานของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนั้นบกพร่อง เก้าอี้ไม่เพียงพอ ยังขาดทุนกว่าปีละ 80 ล้านบาท และ ยังอ้างถึงการท้วงติงจากสภากรุงเทพมหานครเรื่องการบริหารหอศิลปฯ รวมถึงบอกว่าถ้าไม่ให้คืน ก็จะไม่ให้งบประมาณนั้น
เรื่องดังกล่าวนี้ทางเครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมด้านศิลปวัฒนธรรม เห็นว่า เป็นการกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริง หอศิลปฯ ได้ให้บริการด้านการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการและศิลปะมากกว่า 100 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่าปีละ 1 หมื่นคน นอกเหนือจากคนที่เข้ามาเยี่ยมชมงานศิลปะและกิจกรรมต่างๆ ของหอศิลปฯ ปีละกว่า 1 ล้านคน (ตามเอกสารแนบ) นอกจากนั้น ทางหอศิลปฯ ยังสามารถจัดหางบประมาณในการจัดกิจกรรมทางศิลปะได้เองนอกเหนือจากที่ กทม. ให้งบอุดหนุนปีละ 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงค่าใช้จ่ายด้านกิจกรรมเพียง 10 ล้านบาท และส่วนที่เหลือ 30 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค ความปลอดภัย และการซ่อมแซมอาคาร ฯลฯ
อนึ่ง การที่ กทม. จะยึดเอาหอศิลปวัฒนธรรมฯ ไปบริหารเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้องและผิดข้อตกลงของปฏิญญาที่กรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการการ ในเวลานั้นคือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ลงนามร่วมกับเครือข่ายและภาคประชาชน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยมีศิลปินแห่งชาติอาวุโสทุกสาขา และตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมลงนาม ในปฏิญญานั้น มีเนื้อหาใจความสำคัญโดยสรุปดังนี้ - (รายละเอียดดูเอกสารแนบ)
1. ให้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้บริหารกิจการโดยมูลนิธิหอศิลปฯ ที่มีกรรมการและผู้บริหารอันเป็นตัวแทนจากศิลปิน, นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัว และเข้าใจความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของสังคมและศิลปะในนานาประเทศอย่างแท้จริง 2. โดยกรุงเทพมหานครจะให้การสนับสนุนงบประมาณ การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการดำเนินงานบริหารหอศิลปฯ โดยมูลนิธินั้น กิจการเจริญก้าวอย่างน่าประทับใจ ตามที่มีรายงานเปิดเผยต่อสาธารณชนทุกปี แม้ว่างบประมาณสนับสนุนของกรุงเทพมหานครนั้น จะมีจำกัดแต่ทางมูลนิธิฯ ก็สามารถจัดหาเพิ่มเติมได้อีกปีละประมาณ 40 ล้านบาท และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด เช่น ปรากฏยอดผู้ชมปัจจุบัน (ปี 2560) มีผู้เข้าชมสูงถึง 1,700,000 คน ในขณะที่ จากปีแรกเมื่อเปิดใช้อาคาร พ.ศ. 2551 มีเพียง 300,000 คน
โดยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทางเครือข่ายและภาคประชาชนด้านศิลปวัฒนธรรมจึงขอคัดค้านที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กล่าวหาว่า การบริหารหอศิลปฯ ไม่มีประสิทธิภาพ และจะมายึดหอศิลปฯ เพื่อนำไปดำเนินการเอง นอกจากจะเป็นการทำผิดปฏิญญาที่ทางกรุงเทพหานครทำไว้กับตัวแทนประชาชนและตัวแทนศิลปินแห่งชาติ อีกทั้งหน่วยงานของกรุงเทพมหานครเองก็ไม่มีศักยภาพและความรู้ที่จะมาบริหารองค์ด้านศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย (ดังคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าฯและผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมฯลฯ กทม. ดูแนบ)
อนึ่ง การที่จู่ๆ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ออกมาโจมตี การบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยที่ไม่มีการปรึกษาหารือ กับคณะบริหาร ซึ่งเป็นมืออาชีพ และกรรมการมูลนิธิฯ ที่ประกอบด้วย บุคลที่ทรงเกียรติของประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมหลายท่าน ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง สุดท้ายนี้ทางเครือข่ายและภาคประชาสังคมศิลปวัฒนธรรมขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศ และผู้มีอำนาจแต่งผู้ว่าฯ ได้โปรดมีคำสั่งระงับแนวคิดดังกล่าวของท่านผู้ว่าฯ โดยด่วน และขอให้กรุงเทพมหานครได้เคารพในปฏิญญาที่ได้มีความตกลงร่วมกัน ในการสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครต่อไปจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน
(นายจุมพล อภิสุข) เครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมศิลปวัฒนธรรม