ผู้ว่าฯ กทม.แจงผ่านเฟซบุ๊ก ปมฮุบบริหาร “หอศิลป์ฯ” ยันไม่เคยคิดเอาไปทำห้างสรรพสินค้า แต่ต้องการพัฒนาพื้นที่บางส่วนที่ไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์ แต่ติดระเบียบการมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ บริหาร ย้ำสถานที่แสดงศิลปะต้องอยู่คู่เพื่อประชาชน พร้อมถอยการพัฒนาพื้นที่หาก ปชช.ไม่หนุน
จากกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมเข้าบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แทนมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าศิลปินอย่างมาก โดยจะมีการนัดรวมพลศิลปินไปทำเนียบรัฐบาลวันที่ 15 พ.ค. 2561 เพื่อยื่นปลด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม.ออกจากตำแหน่ง และขอให้ยุติการดำเนินการดังกล่าว
วันนี้ (14 พ.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ว่า “Ars longa vita brevis” ประโยคดังกล่าวได้รับการแปลอย่างลึกซึ้ง โดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีใจความว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” แสดงถึงความสำคัญของศิลปะ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีพื้นที่สาธารณะปราศจากการแทรกแซง เพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการแสดงออก เพื่อศึกษา หรือร่วมแบ่งปันงานศิลป์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในจุดสำคัญของประเทศที่ใช้ในการทำกิจกรรมเหล่านี้
จากการที่มีกระแสข่าวในทำนองว่า กทม.จะนำพื้นที่ในหอศิลป์ฯ ทั้งหมดไปทำอย่างอื่น? หรือแม้กระทั่งนำไปทำห้างสรรพสินค้า!? รวมไปถึงแคมเปญออกมา คัดค้านการที่ กทม.จะเข้ามาบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วยตนเองนั้น
ผมคงต้องตอบว่า กทม.ไม่เคยคิด และไม่มีทางที่จะทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเรา เพียงแต่เราต้องการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของหอศิลป์ฯ ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ เราต้องการนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ หนึ่งในแนวทางที่อยากจะปรับปรุงก็คือ การนำพื้นที่เหล่านั้นมาปรับเป็นให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนได้เข้ามาใช้ สร้างสรรค์งานศิลป์ ทำงาน พบปะ และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือที่เรียกกันว่า co-working space ในส่วนนิทรรศการก็ยังจะต้องใช้เพื่อแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเดิม
แต่การที่ กทม.จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น อาจติดด้วยระเบียบและกฎหมายการมอบกิจการให้มูลนิธิ กทม.จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านั้น เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและดึงดูดให้ประชาชนสนใจงานศิลป์มากขึ้น สำหรับแนวทางการพัฒนานั้นอาจมีการดึงผู้ที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ มาช่วยพัฒนา
ผมเชื่อมั่นว่า ศิลปะเป็นเรื่องของอิสระทางความคิดและจินตนาการ ศิลปะเป็นสิ่งจรรโลงใจหาใช่เพื่อวัตถุประสงค์ใด และ สถานที่แสดงศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งนี้จะต้องยังคงอยู่เพื่อประชาชนทุกคนครับ
สุดท้ายนี้ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาในพื้นดังกล่าวครับ”